ตม. แจงกรณีเรือตรวจการณ์ ยันมีความจำเป็น - เพิ่มความสามารถ
"พ.ต.อ.เชิงรณ" ออกโรงยืนยันเรือตรวจการณ์ได้ใช้ประโยชน์ เพิ่มความสามารถ ในด้านงานปัญหาค้ามนุษย์ ป้องกันปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ตลอดแนวชายแดน และพื้นที่เป้าหมายที่ติดทะเล
จากกรณีโครงการเรือตรวจการณ์ สตม.จัดซื้อ 27 ลำ ใช้งบ 348 ล้าน แต่เรือดังกล่าวกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ในโครงการดังกล่าว เนื่องจากมี ตม.จังหวัดหลายแห่งที่รับมอบเรือไปแล้วนำไปจอดไว้บนบกที่โรงเก็บ ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ บางแห่งไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.ขับเรือเป็น ขณะเดียวกันยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีกองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน.) ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่ทางน้ำ ตรวจการณ์ ลาดตระเวน ฯลฯ และโครงการนี้มีความซ้ำซ้อนกับตำรวจน้ำหรือไม่ หรืออาจจะเป็นการทุจริตเรื่องงบประมาณ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63 ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีภารกิจในการบูรณการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคประมงไทย โดยการประกอบกำลังร่วมปฏิบัติในการสกัดกันป้องกันปราบปรามสืบสวนขยายผลคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ตลอดแนวชายแดน และพื้นที่เป้าหมายทั้งพื้นที่ติดทะเลและพื้นที่ข้างเคียงโดยประเทศไทยมีพรมแดนทางทะเลยาว 1,500 ไมล์ และมีด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำอยู่ในความรับผิดชอบด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือยนต์ตรวจการณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่
พ.ต.อ.เชิงรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนการในการจัดอบรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมถึง มีแผนที่จะรับโอนทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถมาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อว่างเว้นจากการปฏิบัติภารกิจนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และสภาพความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่บางพื้นที่อาจจะสามารถจอดอยู่ในน้ำ แต่บางพื้นที่อาจเกิดภาวะน้ำแล้งหรือเกิดมรสุมจนไม่สามารถจอดในน้ำได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำขึ้นมาจอดบนบก ซึ่งสามารถนำมาจอดไว้ใกล้ที่ทำการเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินของทางราชการ