หุ้นอสังหาฯ ไร้สัญญาตอบรับ แบงก์ชาติผ่อนมาตรการสินเชื่อ
ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการดำเนินมาตรการจำกัดวงเงินปล่อยสินเชื่อต่อสินทรัพย์ (LTV) ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจสะท้อนแนวโน้มกระเป๋าเงินที่แท้จริงของประชาชนว่ายังมีกำลังซื้อเติบโต ลดลง หรือ ไม่เปลี่ยนแปลง
รวมทั้งยังสะท้อนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และสถาบันการเงิน
ดังนั้นตัวเลขที่ปรากฎออกในอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอสังหาฯ จึงย่ำแย่และหนักสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สินเชื่อเติบโตลดลงอยู่ที่ 3.8 % เป็นการลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 4.2 % เมื่อแบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
เมื่อเจาะเฉพาะสินเชื่อปล่อยใหม่ในช่วงที่เริ่มมาตรการ LTV สำหรับผู้ประกอบการ จากไตรมาส 2 และ 3 อยู่ที่ 10.2 % และ 8.4 % ตามลำดับ ส่วนการปล่อนสินเชื่อใหม่เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดลงเช่นกัน จาก 7.8 % อยู่ที่ 6.6 % ตามลำดับ
ขณะเดียวกันเมื่อแยกสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยช่วง 9 เดือนปี 2562 สัญญาแรก (บ้านหลักแรก) 8.8 % แต่ สัญญาสอง (บ้านหลักที่สอง) ลดลง 14 % กระทบอสังหาฯคอนโดฯ มากที่สุด 26.2 % ส่วนแนวราบ 0.4 % และสัญญาที่สาม (บ้านหลังที่สาม) ลดลง 31.4 % กระทบคอนโดฯ 40.5 % ส่วนแนวราบกระทบ 8 %
ด้านผู้ประกอบการช่วง 9 เดือน ปี 2562 ยอดขาย (Presale) ลดลง 30 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงมาที่สุดของคอนโดมีเนียม 45 % และ แนวราบ 16 % ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการหลายรายออกมาปรับลดยอดขายปี 2562 ลงหลายราย
ตัวเลขกำไรสุทธิ 9 เดือนปี 2562 ใน 10 บริษัทชั้นนำอยู่ที่ 22,891 ล้านบาท ลดลง 21.61 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 29,205 ล้านบาท ด้านราคาหุ้นอสังหาฯ เจอผลกระทบไม่น้อยราคาปรับตัวลงต่อเนื่อง จนทำให้อัตราราคาปิดต่อราคาหุ้น (P/E) ไม่ถึง 10 เท่า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการออกมากดดันมาตรการ LTV ที่ออกมาได้ผลดีเกินคาดและทันทีตามที่ธปท. คาดหวังไว้
อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวทำให้ธปท. ยอมผ่อนปรนแต่ไม่ยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าว และเพิ่มอัตราสินเชื่อ 10 % ให้กับสัญญาแรก ที่ราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตกแต่งซ่อมแซมบ้าน ส่วนใครอยากมีบ้านหลังที่สองต้องมีประวัติกู้บ้านหลักแรกอย่างน้อย 2 ปี และคงเงินดาวน์ที่ 10 %
แม้จะเป็นลดความเข้มงวดแต่ผิดไปจากที่ตลาดและนักลงทุนคาดการณ์ว่าจะมีการยกเลิกเกณฑ์ LTV สำหรับสัญญาที่สองให้เหมือนกับการกู้สัญญาแรก และวางเงินดาวน์น้อยลง เพราะมองว่ามีความต้องการจริงเพื่อเป็นบ้านหลังที่สองและคงมาตรการเดิมสำหรับสัญญาที่สาม
ผลที่ตามมาในกลุ่มหุ้นอสังหาฯ วานนี้(20 ม.ค.) ไม่ได้ตอบรับในเชิงบวก ซึ่งดัชนีกลุ่มอสังหาฯ ปิดที่ 253.68 จุด ลดลง 1.14 จุด เปลี่ยนแปลงลดลง 0.45 % เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีมีการปรับตัวขึ้นมาเพื่อเก็งรับข่าวดังกล่าว ซึ่งทำให้เมื่อออกมาไม่เป็นไปตามคาดจึงทำให้กลุ่มอสังหาฯยังไม่สดใสหนักในสายตานักลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ประเมินภาพรวมปี 2562 จะรายงานยอดจองซื้อและรายได้ที่ธุรกิจที่อยู่อาศัยต่ำกว่าแผนที่กําหนดไว้เมื่อต้นปี คาดยอดจองซื้อรวม (ที่ให้คําแนะนํา) อยู่ที่ 1.91 แสนล้านบาท ลดลง 32% จากปีก่อน และต่ำกว่าที่ผู้บริหารคาด 24%
โดยมียอดโอนและรายได้ธุรกิจที่อยู่อาศัยไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ 57000 ล้านบาท ลดลง 8 % ทั้งปี ตัวเลขอยู่ที่ 1.76 แสนล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน และ ต่ำกว่าเป้าหมาย 13% ซึ่งถูกกดดันจากมาตรการสินเชื่อบ้านที่เข้มงวดและภาวะเศรษฐกิจ
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาดกำไรปี 2562 จะติดลบ 20 % จากปีก่อน ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “ถือลงทุน” หุ้น top pick ได้แก่ SPALI (ซื้อ 20.00 บาท) จากแนวโน้มกำไรปี 2563 ที่จะเติบโตได้ดีกว่ากลุ่ม และ ORI (ซื้อ 8.50 บาท) จาก Valuation ที่ถูกสุดในกลุ่มปี 2563 PER ที่ 6.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 7.3 เท่า