แก้วิกฤติฝุ่นพิษ ขาดเจ้าภาพหลัก
วิกฤติฝุ่น PM2.5 ที่ดูจะรุนแรงมากขึ้น แม้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีแผนแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ดูจะยังมีจุดอ่อนสำคัญที่อาจทำให้การดำเนินการไม่ได้ผลอย่างที่วางแผน คือ การไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงในการสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ
ต้องยอมรับว่าผ่านไปแต่ละปี ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ค่าฝุ่นขยับสูงเกินมาตรฐาน หรือระดับ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้จะถูกระบุเป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่การขยับมาตรการ เหมือนดำเนินการในสถานการณ์ปกติ จริงอยู่รัฐอาจจะมองว่าตัวเลขค่าฝุ่นยังไม่ถึงขั้นรุนแรง อย่างที่สังคมวิตก แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งโดยสามัญสำนึกของกลุ่มคนที่อยู่เมืองหลวงเชื่อว่าทราบดีว่า ปีนี้หนักหนากว่าทุกๆ ช่วงของปีนี้ และพร้อมที่จะคิดต่อไปว่าหากยังไม่เริ่มใช้ยาแรง ตั้งแต่วันนี้ ปีหน้าและต่อๆ ไปจะรุนแรงขึ้นไปอีก จึงไม่แปลกที่แรงกดดันจะถล่มจี้ไปที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศ ทำให้ท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกมาชี้แจงท่าทีรัฐบาลอีกครั้ง ว่าระดับไหนถึงจะใช้ยาแรง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่า ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน การที่จะบอกว่ารุนแรงหรือไม่นั้น ต้องมาดูหลักการและเหตุผล ว่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งของต่างประเทศ และหน่วยงานไทย ต้องมีแผนแม่บทร่วมกัน ได้อนุมัติใน ครม.ไปแล้ว
และหลายคนอยากให้ใช้ยาแรง ก็จะเกิดข้อขัดแย้ง หากค่า 50 ไมครอนตามกฎหมายปกติต้องเข้มงวดทุกประการจากทุกแหล่งที่มา แต่ถ้าพื้นที่ใดเกิน 50-75 ไมครอน ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าฯกทม.มีมาตรการเข้มงวดกวดขันขึ้นเป็นเฉพาะพื้นที่ แต่ถ้าสูงถึง 76-100 ไมครอน ต้องไปเข้มงวดอีกระดับ อย่างการห้ามรถเข้าออกวันโน้นวันนี้ จะมีผลกระทบมากพอสมควร ฉะนั้นถ้าเกิน 100 ไมครอน รัฐบาลจะเทคโอเวอร์ทั้งหมด คราวนี้ก็จะเดือดร้อนทั้งหมด เช่น ห้ามการใช้รถ ใช้รถบริการสาธารณะอย่างเดียว ห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้า รถเกิน 10 ปีห้ามใช้
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลของหน่วยงานบ้านเรา ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองประจำวัน โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง : ตรวจวัดได้ 54 -89 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบว่าเกินมาตรฐาน จำนวน 35 พื้นที่ จึงเป็นที่มาของการออก 4มาตรการ 1.สั่งปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 โรงเรียน 2.ให้หน่วยงานในสังกัด กทม.ขยับเวลาการทำงาน เพื่อบรรเทาปัญหาจราจร 3.แจกหน้ากากอนามัย 4.5 แสนชิ้น และ 4.ขอความร่วมมือประชาชนสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนั้น ในส่วน 12 มาตรการ ก็ผ่านคณะรัฐมนตรีมาแล้ว เป็นการยกระดับมาตรการป้องกัน ถือว่าเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.2563
เราเห็นว่า นอกจากสถานการณ์ฝุ่นใน กทม.และเมืองใหญ่ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว จุดอ่อนอีกด้าน แม้รัฐบาลจะได้กำหนดให้ฝุ่นฯ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และมีแผนฯ แก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่แผนฯ ดังกล่าว ยังมีจุดอ่อนสำคัญที่อาจทำให้การดำเนินการไม่ได้ผลอย่างที่วางแผน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ ยัง ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริง หรือหน่วยงานหลักในการสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ มีความแตกต่างจากหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมี USEPA ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีโดยตรง หรือประเทศเกาหลีใต้ที่มีกฎหมายฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากประกาศให้ฝุ่นฯ PM 2.5 เป็นภัยแล้ว หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเจ้าภาพหลักซึ่งขึ้นต่อประธานาธิบดีโดยตรงจะสามารถประกาศสั่งการให้แก้ไขปัญหาได้ทันที