‘ด่องเวียดนาม’ เจอศึกหนักปี 63

‘ด่องเวียดนาม’ เจอศึกหนักปี 63

‘ด่องเวียดนาม’เจอศึกหนักปี63 ขณะการนำเข้าของเวียดนาม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง2-3เดือนข้างหน้า และจะแซงหน้ายอดส่งออก

หลังจากมีเสถียรภาพมาตลอดปีที่แล้ว มาถึงปีนี้ คาดว่าสกุลเงินด่องของเวียดนามน่าจะถูกกดดันหนักจากปัจจัยลบทั้งนอกประเทศและในประเทศ

'เหวียน ทริ เหอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มีความเห็นว่าแรงกดดันด้านอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินด่องของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ แม้รัฐบาลจะคาดการณ์ว่าการขาดดุลการค้าของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 3% ของยอดส่งออกโดยรวมก็ตาม เนื่องจากการนำเข้าของเวียดนาม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง2-3เดือนข้างหน้า แซงหน้ายอดส่งออกและเพิ่มแรงกดดันแก่เงินด่อง

“นอกจากนี้ เราคาดการณ์ว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ)และยอดเงินที่แรงงานเวียดนามส่งกลับประเทศในปีนี้จะลดลง เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงยิ่งทำให้สกุลเงินด่องมีปัจจัยหนุนน้อยลง”เหอ กล่าว

ปีที่แล้ว เวียดนาม ได้รับเงินลงทุนในประเทศ 38,000ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% จากปี2561 ที่ได้รับเงินลงทุน 35,500 ล้านดอลลาร์ โดยอุตสาหกรรมการผลิตยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงเข้าประเทศจำนวน 24,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 64.6% ของเงินลงทุนในปี 2562

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับทุนมนุษย์ที่ยังไม่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน จะส่งผลให้เอฟดีไอในอุตสาหกรรมการผลิตปรับตัวลงในปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งกดดันค่าเงินด่องมากขึ้น

157965598120

เว็บไซต์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การส่งออกของเวียดนามในเดือน ต.ค. ลดลงอย่างคาดไม่ถึง หลังยอดการส่งออกลดลงไป 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าการส่งออกของเวียดนามจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 10%

  สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดการส่งออกของเวียดนามลดลงมาจากการที่ยอดขายเมล็ดกาแฟของเวียดนามในต่างประเทศลดลง หลังเกษตรกรชะลอการขายเมล็ดกาแฟ จากปัญหาราคาเมล็ดกาแฟตกต่ำในรอบ 10 ปี ซึ่งส่งผลให้ยอดการส่งออกเมล็ดกาแฟในเดือน ต.ค.อยู่ที่ 1 แสนตัน ลดลงไปถึง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงการที่บริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ลดการจัดส่งโทรศัพท์มือถือในเดือน ก.ย.ลง ประกอบกับยอดการส่งออกน้ำมันดิบ และเหล็ก ปรับตัวลงเช่นกัน

 ขณะที่ยอดการนำเข้าของเวียดนามเพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้มูลค่าการส่งออกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน ต.ค. อยู่ที่ 2.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

แม้สกุลเงินด่องของเวียดนามจะถูกกดดันเพิ่มขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญก็คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะเข้ามาแก้ปัญหาเงินด่องอ่อนค่า โดยที่ผ่านมา สหรัฐ ได้ประกาศรายชื่อ 10 ประเทศที่รัฐบาลวอชิงตันต้องจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จีนเยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม

ด้านนักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะอานิสงส์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ว ๆ นี้ แต่เวียดนามอาจต้องเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่รออยู่ โดยเฉพาะเรื่องของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและนโยบายตอบโต้ทางการค้าในอนาคตจากสหรัฐ

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 7% และสูงกว่าเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน เช่น เมียนมา และฟิลิปปินส์ เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริการและการส่งออก หลังจากที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกหลายแห่ง ทั้งนินเทนโด แอ๊ปเปิ้ล และกูเกิ้ล กำลังย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่เวียดนาม เพื่อหนีผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทำให้สินค้าที่ผลิตในจีนมีราคาแพงกว่าในอดีต

ก่อนหน้านี้ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือจากเกาหลีใต้อย่างซัมซุง ที่มีมูลค่าส่งออกจากเวียดนามสูงเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ ย้ายโรงงานไปที่เวียดนามแล้วและช่วยหนุนตัวเลขส่งสินค้าอิเลคทรอนิคส์ไปตลาดสหรัฐให้ขยายตัว 76% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562

นักวิเคราะห์ มองว่า เวียดนามยังมีความเสี่ยงคืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็น 5.2% ในเดือนธ.ค. ถือเป็นอัตรารายเดือนสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ปี2557 โดยมีสาเหตุหลักคือราคาเนื้อหมูที่ทะยานสูงขึ้น เพราะการระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา ขณะที่ความต้องการเนื้อหมูเพิ่มสูงขึ้นก่อนเทศกาลวันตรุษจีนในช่วงปลายเดือนนี้ ประกอบกับจีนเพิ่งลดพิกัดอัตราภาษีนำเข้าเนื้อหมูเมื่อไม่นานมานี้