ฝั่ง 'ธนบุรี' กำลังจะเปลี่ยนไป
เมื่อการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าหลากสาย ที่ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากฝั่งพระนครที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้แนวการเติบโตขยายต่อมายังฝั่งธนบุรี ทำให้รูปแบบของการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป
กรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนั้นมีศักยภาพและการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันมาตลอด ในช่วงกว่า 200 ปีที่ผ่านมา เพราะหลังจากที่พระราชวังและที่อยู่อาศัยของเหล่าขุนนางอยู่ที่ฝั่งพระนครทั้งหมดแล้ว ย่านการค้าต่างๆ ก็จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากกันมากนัก
เยาวราช ตลาดมหานคร คือพื้นที่พาณิชยกรรมหรือ CBD แบบที่เรียกกัน ในปัจจุบันจึงอยู่ในฝั่งพระนครทั้งหมด มีกระจายออกมาในฝั่งธนบุรีบ้างแต่ก็เป็นย่านการค้าที่ไม่ใหญ่ และเป็นย่านการค้าที่รับสินค้ามาจากตลาดในฝั่งพระนครอีกที
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ย่านการค้าจึงมีการพัฒนาต่อยอดจากย่านการค้าแบบตลาดในอดีตแถวเยาวราช
ขยายมาตามถนนเจริญกรุงและสีลม สาทร พระราม 4 จากนั้นก็ต่อขยายออกไปต่อเนื่อง
จนกลายเป็นย่าน CBD แบบในปัจจุบัน
การที่ CBD ของกรุงเทพมหานครอยู่ในฝั่งพระนครแบบที่เห็น ความสำคัญของฝั่งพระนครจึงมีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด การพัฒนาและโครงการรูปแบบต่างๆ ของภาครัฐบาลและเอกชนจึงอยู่ในพื้นที่ฝั่งพระนครมากกว่าแบบชัดเจน อาจจะมีโครงการบ้านจัดสรร ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอมมูนิตี้มอลล์บ้างในฝั่งธนบุรี แต่สัดส่วนนั้นยังน้อยกว่าฝั่งพระนคร
การที่มีโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนเกิดขึ้นในฝั่งพระนครมากกว่าแบบที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะพัฒนาโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางด่วน และรถไฟฟ้า สมัยก่อนอาจจะพูดถึงแต่เส้นทางพิเศษที่ส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งพระนคร มีเพียงจุดขึ้น-ลง 4 แห่งเท่านั้นที่อยู่ในฝั่งธนบุรี ซึ่งอาจจะเข้าใจได้ว่าฝั่งพระนครเป็นย่านการค้า และพาณิชยกรรม
ในขณะที่ฝั่งธนบุรีเป็นย่านที่อยู่อาศัย คนจะเดินทางจากฝั่งธนบุรีเข้าไปทำงานในฝั่งพระนคร มากกว่าที่จะเดินทาง
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทำงานในฝั่งธนบุรี ดังนั้น เมื่อกรุงเทพมหานครมีเส้นทางรถไฟฟ้าเกิดขึ้น เส้นทางทั้งหมดในช่วงแรก
จึงอยู่ในฝั่งพระนคร จนเมื่อเวลาผ่านไปแล้วหลายปีจึงมีสถานีรถไฟฟ้าในฝั่งธนบุรี แต่ก็เพียงไม่กี่สถานีเท่านั้น
ปี 2562 น่าจะเป็นปีแรกที่ฝั่งธนบุรี มีสถานีรถไฟฟ้ามากกว่า 10 สถานี เป็นครั้งแรกหลังจากที่ฝั่งพระนครมีมากกว่า 10 สถานีมา 20 ปีแล้ว สถานีรถไฟฟ้าในฝั่งธนบุรีที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เพิ่งเปิดให้บริการแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ และคงต้องรอจนถึงปลายปี 2563 เมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองช่วงที่ 1 เปิดให้บริการ (ถ้าเป็นไปตามกำหนดการเดิม) จึงจะมีจำนวนสถานีเพิ่มขึ้น จากนั้นก็รออีกหลายปีเลยกว่าจะมีจำนวนสถานีเพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามจำนวนสถานีก็คงไม่มากกว่าทางฝั่งพระนครแน่นอน ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟฟ้า 3 เส้นทางที่เชื่อมพื้นที่ในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน คือ สายสีเขียวและสายสีน้ำเงินที่เพิ่งเปิดให้บริการ จริงๆ แล้วมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอีก 1 เส้นทาง แต่ยังใช้รถไฟทั่วไปให้บริการอยู่ เลยขอข้ามไปก่อนนะครับ แต่อนาคตจะมีเส้นทางเพิ่มเติมอีกแน่นอน
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นอีก 1 เส้นทางที่จะเชื่อมฝั่งพระนครและฝั่ง ธนบุรีเข้าด้วยกันในอนาคต (สายสีแดงอีก 1 เส้นทางแต่ยังไม่ขอพูดถึง) การที่มีเส้นทาง รถไฟฟ้ามากขึ้นในฝั่งธนบุรีสร้างความ เปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจนจากก่อนหน้านี้ เพราะราคาที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อ การใช้ประโยชน์ของที่ดินที่จ�าเป็นต้อง ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ ศักยภาพของที่ดินที่เปลี่ยนแปลง ไปจากอดีตมากมาย
ทั้งนี้ การมาของเส้นทางรถไฟฟ้ายังมีผลต่อการจอดรถตลอดแนวถนนที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน เพราะก่อนหน้านี้พื้นที่ตามแนวเส้นทางหลักในกรุงเทพมหานคร สามารถจอดรถได้และเป็นประโยชน์ต่ออาคารพาณิชย์ที่ทำการค้าตลอดแนวถนน แต่เมื่อการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการห้างร้านต่างๆ ที่อยู่ตลอดแนวเส้นทาง ก็ปิดกิจการหรือย้ายไปทำเลอื่นๆ กันหมดแบบที่เห็นในตอนนี้
ประกอบกับราคาที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น จึงเห็นโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ แทนที่อาคารพาณิชย์ ตลาดนัด ปั๊มน้ำมัน มากขึ้นในพื้นที่ฝั่งธนบุรี พื้นที่ฝั่งธนบุรีจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแบบต่อเนื่องแน่นอนในอนาคต เพียงแต่คงไม่ทัดเทียมกับพื้นที่ฝั่งพระนครที่พัฒนามาก่อนหน้านี้