ดัน ดนตรีพื้นเมือง สุพรรณฯ สู่เมืองสร้างสรรค์ ยูเนสโก
อพท. ร่วมกับ อบจ. สุพรรณบุรี ผลักดันสุพรรณฯ สู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ยูเนสโก ปี 2564 ดึงอัตลักษณ์ดนตรีพื้ันบ้าน สร้างรายได้ สู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
เนื่องด้วยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงได้เสนอแนวคิดเรื่อง “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์" (The Creative Cities Network) ขึ้น ในปี 2547 โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ สร้างสันติวัฒนธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์" มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ 1) วรรณคดี (Literature) 39 เมือง2) ด้านการออกแบบ (Design) 40 เมือง 3) ภาพยนตร์ (Film) 18 เมือง4) ดนตรี (Music) 47 เมือง5) ด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) 49 เมือง6) มีเดีย อาร์ต (Media arts) 17 เมือง และ 7) อาหาร (Gastronomy) 36 เมือง โดยมีเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นสมาชิกเครือข่ายแล้วทั้งสิ้น 246 เมือง ใน 84 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ ปี 2562) และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวนเมืองที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของประเทศไทย มีเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายทั้งสิ้น 4 เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ (Design ปี 2562) สุโขทัย (Craft and Folk Arts ปี 2562) เชียงใหม่ (Craft and Folk Arts ปี 2560) และภูเก็ต (Gastonomy ปี 2558)
ล่าสุด องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชุมชน และประชาชน ผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีของ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ภายในปี 2564 โดยจัดกิจกรรม โครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียนในภูมิภาค พ.ศ.2563 (ASEAN Music & Dance Connectivity 2020) ในวันที่ 20-21 มกราคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุพรรณบุรี
เพื่อสร้างความรับรู้ให้แก่ครูและบุคลากรด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของไทย โดยภายในงานได้รับความสนับสนุนจากวิทยากรด้านดนตรี และนาฏศิลป์อาเซียน 10 ประเทศ จำนวน 20 คน ในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดนตรี ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพครูอาจารย์ในจ.สุพรรณบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวนกว่า 200 คน
จังหวัดสุพรรณบุรี มีความโดดเด่น ในเรื่องเพลงพื้นบ้านที่หลากหลาย อาทิ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือเพลงร่วมสมัยอื่นๆ ที่ได้รับการส่งต่อและประยุกต์จากรุ่นสู่รุ่น ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินคนท้องถิ่นของสุพรรณบุรีอย่างไม่ขาดสาย ผลิตศิลปินเพลงพื้นบ้าน เพลงป๊อบ เพลงร็อก เพลงเพื่อชีวิต อาทิ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ (นางเกลียว เสร็จกิจ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539
นิมิตร วันไชยธรวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัด ได้ร่วมกับ อบจ. และ อพท.7 เล็งเห็นความสำคัญในการเข้าร่วมเมืองสร้างสรรค์ทางดนตรีกับยูเนสโกตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังขาดองค์ประกอบหลายด้าน อาทิ จิตวิญญานของประชาชนในจังหวัด ชีวิตประจำวันของประชาชนต้องมีส่วนร่วม และเกี่ยวพันกับดนตรีมากกว่านี้ การอบรมดังกล่าว จะเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับครูอาจารย์ที่มีวิชาชีพในการสร้างคนให้มีจิตวิญญาน ในการสร้างศิลปิน ทำอย่างไรให้กระตุ้นดนตรีในหัวใจ ทำให้คนทั้งโลกพูดถึงสุพรรณว่าเป็นเมืองแห่งดนตรี
"ดนตรี กีฬา ศิลปวัฒนธรรม เป็นส่วนในการสร้างเศรษฐกิจชาติ สุพรรณยังไม่มีตรงนี้ ทำให้เป็นเรื่องยากในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา แม้เสาร์อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไหว้พระ รับประทานอาหาร แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่ายังขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีกำลังซื้อ ดังนั้น ทางจังหวัดจึงต้องพยายามพัฒนาจุดขาย เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้แก่คนท้องถิ่น ผลักดันให้ทุกพื้นที่ของสุพรรณฯ กระหึ้มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมดนตรี ยกระดับเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ยูเนสโกให้ได้ภายในปี 2564"
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การยื่นเสนอเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก จะเปิดให้ยื่น 2 ปีครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากที่ผ่านมา ภูเก็ต ยื่นตั้งแต่ปี 2554 กว่าจะได้ในปี 2558 เมืองที่ได้รับเลือกเป็นเครือข่ายฯ ปัจจุบัน เจริญก้าวหน้าไปมาก โดยในแถบเอเชีย อาทิ เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้าน ภาพยนตร์ (Film) เป้าหมายคือ ยกระดับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ปูซาน (Busan International Film Festival) ให้เทียบเท่าเมืองคานส์ ซึ่งต้องทำทุกอย่างให้ปูซานซัพพอร์ตในด้านนี้ วันนี้ปูซานฟิล์ม เทียบเท่าเมืองคานส์ ผู้คนเดินทางไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใครไม่มาที่นี่ ถือว่าหนังตัวเองจะตกเทรนด์
"ในบริบทสุพรรณฯ สิ่งที่ยังขาด คือ จิตวิญญานของคน เมื่อก้าวขาเข้ามาในเมืองสุพรรณ ต้องได้กลิ่นอายของเมืองดนตรี สร้างกระบวนการ ความร่วมมือในท้องถิ่น สร้างโลโก้ สัญลักษณ์ และการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ และประชาสังคม รวมถึงสร้างระบบเศรษฐกิจในประเทศ เมืองสุพรรณฯ ต้องมีการรวมตัวของคนดนตรี มีโรงเรียนสอนดนตรี รวมกันเป็นชุมชน ต่อยอดดนตรีพื้นบ้านเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ ไม่ใช่แค่มี แต่ต้องพร้อม"
"ตอนนี้เรายังอยู่ที่สเต็ป 2 ในการเริ่มขยายผลในกลุ่มคนในท้องที่ให้มากขึ้น ซึ่งคนก็เริ่มสนใจ และเขาก็อยากรู้ว่ามันจะดีอย่างไร ต่อไปต้องทำกิจกรรม เพื่อให้คนในพื้นที่รู้ว่าเรามีอะไร และชูขึ้นมาเป็นจุดเด่นของจังหวัดอย่างจริงจัง อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ดี"
หลังจากที่ยื่นแล้ว ต้องมีแผนในการต่อยอด สร้างแลนด์มาร์คของเมือง วางแผน นำเสนอการพัฒนาเป็นระยะ ความยากอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องเขียนบรรยาย ไม่เกิน 1,500 คำ กระชับ และให้เข้าใจว่าอะไรคือรากเหง้าของสุพรรณบุรี อะไรคือการรับรู้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะสุดท้าย จุดหมายปลายทาง ที่ยูเนสโกต้องการคือ การแลกเปลี่ยนกันระหว่างเครือข่าย เดินทางพบปะ เกิดการท่องเที่ยว หมุนเวียนเม็ดเงิน และยกระดับคนในท้องที่ เราคาดหวังว่าหากสุพรรณฯ ได้ัรับการคัดเลือกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ต่อไปคนก็ต้องอยากมาแลกเปลี่ยนด้านดนตรี เกิดธุรกิจ และโรงเรียนด้านดนตรีต่อไปอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเล็งเสนอชื่อ จ.น่าน เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้าน Craft and Folk Arts พร้อมสุพรรณบุรีในปี 2564
“เราไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นแค่คลื่น ที่มาแล้วหายไป จึงพยายามดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนให้มากขึ้น คนในพื้นที่ ครูเพลง ต้องรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ต้องทำ และยิ่งเขามีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ วงการนี้ก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ต้องเกิดการส่งต่อ ส่งมอบ และเกิดเครือข่ายต่อไป” นายทวีพงษ์ กล่าว
Wong Kit Yaw วัย 62 ปี นักออกแบบท่านาฏศิลป์ และที่ปรึกษาอิสระด้านออกแบบท่ารำนาฏศิลป์ จากประเทศมาเลเซีย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่เดินทางมาแลกเปลี่ยนความรู้ภายในงานระบุว่า การที่ประเทศไทยจะอนุรักษ์ศิลปะให้สืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังได้ ต้องเปิดใจ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่ามองศิลปะ วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เด็กจะไม่กล้าคิดนอกกรอบ ครูต้องเปิดใจ ให้อิสระกับเด็ก ให้เด็กมีอิสระในการคิดต่อยอด โรงเรียนก็ต้องมีการสนับสนุน ให้ไปได้ไกล ทำให้มีความหลากหลายขึ้น ครูต้องมีหน้าที่สนับสนุนและผลักดันความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ให้เขาไปได้ไกลที่สุด
/////////////////////