ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัส : บทเรียนจากไข้หวัดนก
ถอดบทเรียนจากไข้หวัดนกระบาด ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่รวมทั้งภูมิภาคเอเชีย มีการคาดการณ์ความรุนแรง 2 ระดับ แม้จะคิดในแง่บวกก็กระทบไปกว่า 3.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นหากปัจจุบันยังไม่มีการรับมือกับโรคระบาดให้ดี คงไม่ต้องคาดเดาเลย
ไวรัส "โคโรน่า" สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่มาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มายังประเทศไทย เป็นไวรัสตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค "ซาร์ส" หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง
การกลายพันธุ์ของไวรัสนั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว เพราะเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจะได้อยู่รอดได้ แต่การอยู่รอดของไวรัสย่อมหมายถึงโอกาสเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของคนเช่นกัน สำหรับสังคมที่ประชาชนมีความตื่นตัวในการป้องกันตนเองต่ำ ความรุนแรงของผลกระทบย่อมมีมากกว่าสังคมที่พร้อม โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ในอดีต มนุษยชาติพบกับหายนะจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมาหลายครั้ง การระบาดใหญ่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือไข้หวัดสเปน ในปี 1918 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การระบาดครั้งนั้นทำให้ประชากรโลกล้มหายตายจากไปกว่า 20 ล้านคน ว่ากันว่าจำนวนคนตายจากไข้หวัดมีมากกว่าจำนวนคนตายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก ความสูญเสียนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพจิตใจ ภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศที่ต้องเจอกับการระบาดของไข้หวัดสเปนอย่างรุนแรง
ตอนที่ไข้หวัดนกระบาดเมื่อราว 10 ปีก่อน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไข้หวัดนกที่จะเกิดขึ้นกับทวีปเอเชีย เป็นการทำงานร่วมกับทีมนักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
ในการศึกษาครั้งนี้ สถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้คือการระบาดทำให้ประชากร 20% ของประเทศนั้นติดเชื้อ มีผู้เสียชีวิต 0.5% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีสถานการณ์สมมติ 2 กรณี คือ กรณีผลกระทบระดับไม่รุนแรง และกรณีผลกระทบระดับค่อนข้างรุนแรง
สถานการณ์แรก กรณีผลกระทบไม่รุนแรง การระบาดส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อหาสินค้าของคนในประเทศ การส่งออก และการลงทุนลดลง 3% เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 6 เดือน คนงานที่ติดเชื้อเจ็บป่วยจนไม่สามารถมาทำงานได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และอาจมีคนงานบางส่วนขาดงานต่อไปอีกเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด
สถานการณ์นี้จะทำให้กำลังซื้อรวมและการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของทวีปเอเชียหายไปประมาณ 99.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (มูลค่าที่เป็นเงินบาทคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) คิดเป็น 2.3% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจเอเชียในปีนั้น ด้านการผลิต มูลค่าการผลิตจะลดลงประมาณ 14.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจเอเชีย
สำหรับประเทศไทย กำลังซื้อรวมและการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะหายไปประมาณ 9.8 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.3% ของเศรษฐกิจไทย มูลค่าการผลิตจะลดลงประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,900 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของเศรษฐกิจไทย
สถานการณ์ที่ 2 ซึ่งรุนแรงกว่า การระบาดจะทำให้ประชาชนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น กำลังซื้อและการลงทุนจะลดต่ำลงกว่าเดิมเป็นเวลาติดต่อกัน 2 ปี ส่งผลให้การผลิตและการจ้างงานลดลงตามไปด้วย กำลังซื้อรวมและการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของทวีปเอเชียหายไปประมาณ 282.7 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.5% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจเอเชีย โดยในด้านการผลิต มูลค่าการผลิตจะลดลงประมาณ 14.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจเอเชียเหมือนกับในกรณีแรก แต่ในระยะยาว ความเสียหายทางด้านการผลิตจะมีมากกว่านี้ เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนที่ลดลงทำให้ผู้ผลิตต้องลดการผลิต ส่งผลให้มีปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นในระยะยาว
ผลกระทบต่อประเทศไทย กำลังซื้อรวมและการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะหายไปประมาณ 17.7 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 11.4% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย มูลค่าการผลิตจะลดลงประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 1,900 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย ตามมาด้วยปัญหาด้านการผลิตและการว่างงานในระยะยาว
แม้ว่าจะเป็นตัวเลขเก่าของสถานการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ก็พอจะเห็นภาพว่า หากปล่อยให้ทุกอย่างเกิดขึ้นตามบุญตามกรรม ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมีมูลค่าสูงขนาดไหน
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานพันธมิตร ต่างก็มีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พอให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกคนอีกด้วยหากเราปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจคิดว่าธุระไม่ใช่ ตัวเลขสมมติเหล่านี้อาจกลายเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ ถึงวันนั้น จะมานั่งเสียใจทีหลังก็คงสายเกินไปเสียแล้ว