'จุรินทร์' สั่งกองทุนฟื้นฟูฯ ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร
“จุรินทร์” สั่งกองทุนฟื้นฟูฯศึกษาปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร 4.6 หมื่นราย 1.5 หมื่นล้านบาท เล็งใช้เกณฑ์จ่ายหนี้กับรัฐคนละครึ่ง เกษตรกรทำแผนฟื้นฟูทยอยจ่ายให้รัฐบาลภายหลังได้ พร้อมไฟเขียวงบ 2.3 พันล้านฟื้นฟูและจัดการหนี้เกษตรกรในปี 63
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อรักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและมีโอกาสได้พักฟื้นหนี้และ ฟื้นฟูสถานะของเกษตรกรในการประกอบอาชีพโดยลดหนี้สินและรักษาที่ดินทำกินไว้ให้ได้
โดยนายจุรินทร์ ได้สั่งการให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไปทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ สมาคมธนาคาร ซึ่งแนวทางที่เสนอมาจากการหารือสามฝ่าย คือ เกษตรกรลูกหนี้ สมาคมธนาคาร คณะกรรมการจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ คือ ให้กองทุนฯชำระหนี้แทนเกษตรกร (สมาชิกกองทุนฯ) โดยชำระเงินต้น 50% ส่วนเงินต้นอีก 50% และดอกเบี้ยพร้อมส่วนสูญเสียที่จะกิดขึ้นกับสถาบันเจ้าหนี้ (ถ้ามี) สถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลในขณะที่เกษตรกรต้องทำแผนฟื้นฟูและทยอยจ่ายเงินคืนกองทุนฯ ภายหลังได้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติว่าเมื่อได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งหน้า 24 ก.พ. จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.)เพื่อพิจารณาจำนวนเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มรอการปรับโครงสร้างหนี้เร่งด่วน 4.6 หมื่นคน มูลหนี้ประมาณ 1.5หมื่นล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นหนี้ในระบบและมีการผ่อนชำระมาเป็นระยะเวลานานแล้ว
นางสาวรัชดากล่าวว่าที่ประชุมฯยังได้มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 2.3 พันล้านบาท คิดเป็นงบฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 518 ล้านบาท และเป็นงบประมาณเพื่อการจัดการหนี้ของเกษตรกรที่เป็นหนี้จากการทำเกษตรกรรม จำนวน 1.3 พันล้านบาท เป้าหมายในการแก้ปัญหาในปี้นี้ให้กับเกษตรกร 2,700 ราย
ที่ประชุมฯยังพิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการทรัพย์สินหลักประกันของเกษตรกรที่ได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อการชำระหนี้ เพื่อแก้ปัญหาของกองทุนฯ คือ ไม่สามารถซื้อทรัพย์ที่หลุดจำนองหากถูกขายก่อนที่เกษตรกรจะขึ้นทะเบียนแก้หนี้กับกองทุนฟื้นฟู และ ซื้อได้เฉพาะการขายทอดตลาดผ่านสำนักงานบังคับคดี ซึ่งระเบียบใหม่จะให้อำนาจคณะกรรมการจัดการหนี้เกษตรกรเจรจาซื้อทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหนี้ของเกษตรกรที่ถูกขายเพื่อการชำระหนี้โดยเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน หรือบุคคล ทรัพย์สินที่ซื้อคืนนี้จะตกเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่ปัจจุบันมีการสูญเสียที่ดินจากการนำที่ดินไปจำนองจำนวนมากซึ่งเป็นปัญหาเกษตรกรที่รัฐบาลพยายามแก้ไข
แหล่งข่าวจากที่ประชุมกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเปิดเผยว่าในระหว่างการประชุมฯเมื่อมีการนำข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรโดยให้รัฐบาลโดยชำระเงินต้น 50% ส่วนเงินต้นอีก 50% และดอกเบี้ยพร้อมส่วนสูญเสียที่จะกิดขึ้นกับสถาบันเจ้าหนี้ (ถ้ามี) สถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลในขณะที่เกษตรกรต้องทำแผนฟื้นฟูและทยอยจ่ายเงินคืนกองทุนฯ ภายหลัง ซึ่งข้อเสนอนี้นายจุรินทร์ได้สอบถามไปยังตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นกรรมการในที่ประชุมว่าหากใช้แนวทางนี้รัฐบาลจะไปเอาเงินงบประมาณจากไหนมาจ่ายให้ขนาดโครงการ “ชิม ช้อป ใช้”ยังมีเงินงบประมาณเลย