กูรูแนะ 'ถือเงินสด-หุ้นปันผล' หลบภัยช่วงไวรัสป่วน
นับเป็นการต้อนรับปี 2563 ที่หนักหนาสาหัสพอสมควร เพราะเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทย (SET) ดิ่งลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 1,521.90 จุด ลดลงประมาณ 70 จุด จากระดับ 1,594.97 จุด ในปี 2562
โดยปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความเสี่ยงของสงครามโลก จากชนวนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน รวมไปถึงประเด็นค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน และล่าสุดคือ การระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าการระบาดของโรคในลักษณะเดียวกันในอดีต
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ของไวรัสโคโรนาดูเหมือนจะแย่ลงกว่าเดิม จนหลายประเทศต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด ต้องสั่งระงับชาวจีนไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงสั่งปิดหลายๆ เมืองเพื่อควบคุมโรค
ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงวันจันทร์ รวมไปถึงตลาดหุ้นไทยเปิดดิ่งลงทันทีเกือบ 50 จุด ตอบรับกับความกังวลของนักลงทุนต่อประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มสายการบิน สนามบิน ท่องเที่ยวโรงแรม รวมไปถึงการบริโภคภาคครัวเรือน และกลุ่มที่มีฐานลูกค้าชาวจีนเป็นหลัก
ทั้งนี้ สถานการณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน และยากต่อการคาดการณ์ว่าจะคลี่คลายลงได้เมื่อใด ฉะนั้นแล้วการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งในสถานการณ์เช่นนี้
เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า การถือครอง ‘เงินสด’ น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด ควบคู่ไปกับการติดตามสถานการณ์ของโรคระบาดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แม้ว่าสินทรัพย์ปลอดภัยจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในช่วงนี้ แต่หากอิงจากสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกัน ความกังวลที่เกิดขึ้นจึงอาจจะกินระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน
“โดยส่วนตัวมองว่าการถือเงินสดน่าจะปลอดภัยที่สุดสำหรับตอนนี้ และคอยติดตามสถานการณ์หลังจากนี้ ส่วนการจะนำเงินเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาจจะเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากสถานการณ์จบลง ตลาดก็พร้อมจะดีดกลับในทันที เพราะฉะนั้นการปรับตัวลงของตลาดในขณะนี้ จึงมองเป็นจังหวะของการหาโอกาสมากกว่า แต่ยังไม่ตอนนี้ ต้องรอให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเสียก่อน”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มหุ้นที่รับผลกระทบน้อยที่สุดจากประเด็นดังกล่าว น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า อาทิ กลุ่มอิเลคทรอนิกส์ ขณะเดียวกันก็ได้รับผลบวกจากภาคการผลิตโลกที่เริ่มดีขึ้นสะท้อนจากตัวเลข PMI ที่ดีขึ้น
ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ความกังวลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าเร็ว 2.2% ในปีนี้ กลับมาแตะระดับ 30.63 บาทต่อดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง และเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคเอเชียที่อ่อนค่าเช่นกัน ยกเว้นเงินเยนที่แข็งค่า 1% เนื่องจากนักลงทุนมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven)
การอ่อนค่าของเงินบาทถือเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นในกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออก อาทิ กลุ่มส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เพราะมีสัดส่วนรายได้สกุลเงินสหรัฐมากกว่าต้นทุนในการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท อย่างเช่น บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) และบมจ.จีเอฟพีที (GFPT)
กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรายได้เกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินต่างประเทศ แต่มีต้นทุนเป็นสกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนที่น้อยกว่า เช่น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ (HANA) บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และบมจ.เอสวีไอ (SVI)
กลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะทำให้ราคาขายไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น เพราะสูตรการคำนวณราคามีการอ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน ส่งผลให้รายได้จากการขายไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น แต่หาก ณ สิ้นงวด เงินบาทอ่อนค่ามากกว่า ณ สิ้นงวดไตรมาส 4 ปี 2562 จะเกิดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ทั้งนี้ บล.เคจีไอ ประเมินว่า หากอิงสถิติในช่วงโรค SARS เมื่อ 17 ปีก่อน ตลาดหุ้นไทยลงไปทำจุดต่ำสุด ในเวลาประมาณ 1 เดือน หลังพบผู้ติดเชื้อ SARS นอกประเทศจีน ซึ่งหากนำช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้กับรอบนี้ จุดต่ำสุดของดัชนีน่าจะเป็นช่วงกลางเดือน ก.พ. 2563 โดยแนะนำให้เปลี่ยนกลุ่มเล่นจากหุ้นวัฏจักรที่อิงเศรษฐกิจโลก (global cyclical) ไปยังหุ้นเสี่ยงต่ำที่มีความแน่นอนของผลประกอบการสูง และหุ้นปันผลเด่น