ไทยพบผู้ป่วย 'ไวรัสโคโรน่า' เพิ่ม 6 ราย รวม 14 ราย
ไทยพบผู้ป่วยยืนยันติดไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มอีก 6 ราย เป็นชาวจีนทั้งหมด มาจากเมืองอู่ฮั่น-มณฑลหูเป่ย คนในครอบครัวเดียวกัน5 ราย รักษาตัวในกทม. ทุกคนอาการไม่รุนแรง ย้ำเป็นการติดเชื้อนอกประเทศ ยังไม่มีการแพร่ระบาดในไทย เพิ่มมาตรการเข้ม
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 ม.ค.2563 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 สำหรับในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6 ราย เป็นชาวจีนทั้งหมด รวมขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยยืนยันรวม 14 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายดีออกจากรพ.แล้ว 5 ราย อีก 9 ราย อาการดีขึ้น และไม่มีผู้ที่อาการรุนแรงวิกฤติ โดยผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 5 รายเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ถือเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว เนื่องจากก่อนหน้านี้มีลูกอายุ 6 ขวบป่วยก่อนเดินทางและไทยสามารถคัดกรองได้ที่สนามบิน จึงนำตัวเข้าสู่การรักษาและเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกวัน เมื่อพบว่าคนในครอบครัวอีก 4 รายป่วยจึงนำเข้าสู่การรักษาทันที มีอายุตั้งแต่ 6 ขวบ ถึง 60 กว่าปี และอีก 1 ราย มาจากมณฑลหูเป่ย เมื่อมีอาการป่วยจึงเดินทางเข้ามารับการรักษา
ขณะที่ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สงสัยต้องเฝ้าระวังสะสม 136 ราย โดยคัดกรองได้ที่สนามบิน 29 ราย และเดินเข้ามารับการรักษาที่รพ.เอง 107 ราย จากทั้งหมดอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 55 รายส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เหลือเฝ้าระวังในรพ. 81 ราย ซึ่งอาจจะติดเชื้อนี้หรือไม่ใช่ก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วคิดเป็นเพียง 10 % ของผู้ป่วยที่ต้องสงสัยเท่านั้น
นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า การเตรียมพร้อมและประสบความสำเร็จในการดูแลสถานการณ์มี 3 ประการคือ 1. การคัดกรอง แม้จะดำเนินการเต็มที่ แต่ก็จะมีบางส่วนที่ผ่านการคัดกรองเพราะยังไม่มีไข้ อยู่ในระยะฟักตัว หรือทานยาลดไข้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.2563 จะขยายการคัดกรองเพิ่มเป็นการคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศจีนทุกคน จากทุกเมือง 100 % 2.การรักษาพยาบาล มีการเตรียมความพร้อมห้องปลอดเชื้อความดันลบในรพ.ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมใช้งาน และให้มีทีมแพทย์พร้อมเข้าไปตรวจสอบทางระบาดวิทยาอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ทีม อีกทั้ง ได้รับความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วย ทั้งกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยต่างๆพร้อมที่ให้ความร่วมมือการดูแลผู้ป่วย
และ3.ประชาชน ชุมชน ช่วยสังเกตในสถานที่สาธารณะ ศูนย์การค้า คนขับรถแท็กซี่ ร้านอาหาร ร้านนวด หรือบริการต่างๆ หากพบคนจีนมีอาการไข้หวัด มีน้ำมูก ไอ ก็ให้คำแนะนำเพื่อมาตรวจที่รพ.ของรัฐทุกแห่งจะได้ทราบและตรวจได้ตั้งแต่เริ่มต้น และคนไทยที่ต้องทำงานสัมผัสกับคนให้ใช้มาตรการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือใช้หน้ากากอนามัย ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และควรหลีกเลี่ยงผู้ที่มีอาการไข้หวัด รวมถึง กระตุ้นให้จิตอาสาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ประสานภายในจังหวัดเพื่อดูแลสถานที่ บ้านพักของประชาชนและแหล่งต่างๆให้มากขึ้น
นพ.สุขม กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาการห้องแล็ปทั่วประเทศเพื่อให้สามารถตรวจผลยืนยันได้ใน 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ สธ.จะประสาน ร่วมมือและสนับสนุนสายการบินในการตรวจคัดกรองผู้ที่จะเดินทางก่อนที่จะเดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศจีนด้วย
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำรักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมคร. กล่าวว่า ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ทั้ง 6 ราย ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร อาการดี ไม่มีอาการรุนแรง เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 ก่อนที่ทางการจีนจะประกาศปิดเมือง ส่วนผู้ที่เดินทางมาในเที่ยวบินเดียวกัน ประมาณ 22 ราย ได้มีการติดตามอาการทุกวัน และบางส่วนเดินทางกลับประเทศจีนไปแล้ว ส่วนที่เหลือยังปกติดี
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ทุกคนที่เป็นผู้ป่วยยืนยันในประเทศขณะนี้ยังเป็นคนที่เดินทางมาจากพื้นที่การระบาดของโรค และอยู่ในเมืองที่ไทยมีการดำเนินการเฝ้าระวังอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าบริเวณท่าเรือคลองเตยมีความเสี่ยงมากน้อยอย่างไร รวมถึงบริเวณชายแดนที่ประเทศเพื่อนบ้านมีรายงานพบผู้ป่วย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงของจุดที่มีคนเข้าเมืองมี 2 ปัจจัย คือ 1.จำนวนคนที่เดินทางเข้ามา ถ้าเข้ามาจำนวนมากก็จะเสี่ยงที่จะเจอผู้ป่วยมาก และ 2.ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากต้นทางสู่ปลายทาง ถ้าใช้เวลานานมากโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยน้อยด้วย เพราะโรคนี้เท่าที่รู้ ระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น เช่น ถ้าใช้เวลาเดินทางถึงไทยเป็นเวลา 10 วัน โอกาสที่จะผู้ป่วยที่ท่าเรือน้อยมาก จึงมีความเสี่ยงต่ำกว่าสนามบินมาก ส่วนบริเวณชายแดนนั้น ขณะนี้การรายงานในประเทศเพื่อนบ้ายยังเป็นการติดจากพื้นที่ต้นตอโรคระบาด ยังไม่ได้มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ความเสี่ยงจากประเทศนี้จึงต่ำ