เปิดศักยภาพ 'ไทย' เฝ้าระวัง-ตรวจ 'ไวรัสโคโรน่า' ดีแค่ไหน?
เปิดแนวทางเฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของไทย มีศักยภาพแค่ไหน?
นาทีนี้ "ไวรัสโคโรน่า" สายพันธุ์ใหม่ 2019 แพร่ระบาดไปหลายพื้นที่ ทั้งจีน ซึ่งคาดว่าต้นตอน่าจะมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ และประเทศอื่นๆ อีกกว่า 18 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2563 เวลา 13.00 น.) สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก
เพราะล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานโดยอ้างการยืนยันของหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นของจีนในวันนี้ว่า (ข้อมูล ณ เช้าวันที่ 29 มกราคม 2563) เฉพาะในจีนมียอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 132 คน ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในจีนอยู่ที่ 5,974 ราย
ขณะที่ประเทศไทยเอง กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโรคปอดอักเสบ โคโรน่าไวรัส 2019 ณ วันที่ 28 มกราคม 2563 เวลา 08.00 น. ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อจากต่างประเทศแล้วทั้งหมด 14 ราย รักษาหาย สามารถกลับบ้านได้ 5 ราย และยังคงต้องนอนโรงพยาบาลอีก 9 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง 136 ราย
- เส้นทางเฝ้าระวังไวรัสโคโรน่า
จากสถานการณ์ล่าสุด การเฝ้าระวังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสายการบินที่มีเที่ยวบินบินตรงจากจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่เกิดการระบาดเป็นแห่งแรก นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายไว้ว่า เมื่อเครื่องบินลงจอด จะมีเจ้าหน้าที่คัดกรองผู้เดินทางทุกรายด้วยการเช็คอุณหภูมิที่บริเวณ"ประตูเครื่องบิน"
..คำถามเกิดขึ้นว่าทำไมถึงต้องไปจ่อกันถึงหน้าประตู? นั่นเพราะว่าเป็นจุดที่ผู้โดยสารยังไม่ได้สัมผัสกับคนอื่นๆ เลย นอกจากผู้ที่เดินทางมาในเที่ยวบินเดียวกันเท่านั้น แต่ขณะนี้เพิ่มการคัดกรองอีกหนึ่งจุด "บริเวณก่อนถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง" โดยจะใช้เครื่อง "เทอร์โมสแกน" หรือกล้องถ่ายภาพความร้อนในการคัดกรองอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสารอีกชั้นหนึ่ง
มาถึงตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญ คือ หากพบอาการเข้าเกณฑ์ 3 ประการ ได้แก่ ไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ และเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคระบาด เจ้าหน้าที่จะเชิญ "ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สงสัยต้องเฝ้าระวัง (Patient Under Investigation :PUI)" ไปที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ภายในสนามบิน และจะประสานให้รถโรงพยาบาลเข้ามารับตัวเป็นการเฉพาะ เพื่อปิดกั้นผู้ป่วยต้องสงสัยสัมผัสกับคนอื่นน้อยที่สุด
ขั้นตอนถัดมา "ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ" จะถูกส่งไปที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยผู้ต้องสงสัยฯ จะต้องรักษาในห้องปลอดเชื้อความดันเป็นลบ สำหรับแพทย์จะใส่ชุดป้องกันโรค และเก็บตัวอย่างเสมหะส่งตรวจไปที่ห้องปฏิบัติการณ์วิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) ทั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
แต่หากไม่พบอาการป่วย เจ้าหน้าที่จะแจกการ์ดแนะนำการปฏิบัติตัว กรณีป่วยระหว่างอยู่ในไทย ซึ่งก็มีผู้ที่ป่วยภายหลังปฏิบัติตามเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและแจ้งประวัติการเดินทาง เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับรักษา ก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน
อ่านข่าว-สธ.รายงานละเอียดยิบ กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019
- ศักยภาพในการตรวจเชื้อไวรัสโคโรน่าในไทย พร้อมแค่ไหน?
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่พบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายสงสัย ให้แจ้งมาที่กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ให้เร็วที่สุด และปฏิบัติตามคำแนะนำการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่สงสัย เพื่อให้ได้ตัวอย่างที่เหมาะสม และให้การตรวจวิเคราะห์ที่ถูกต้อง แม่นยำ
โดยสามารถส่งตัวอย่างจากผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่าย ได้ที่ศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ (ศปส.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกันในระยะแรก ยังพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาค ทั้งหมด 14 แห่ง และระยะต่อไป เตรียมขยายการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจยืนยันได้โดยตรงหลังจากการประเมินระยะแรก
อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะยืนยันได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และรายงานไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้ดูจากผลแล็บเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องนำข้อมูลทางระบาดวิทยาและทางคลินิกมาประกอบด้วย ก่อนนำเข้าสู่คณะผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยพิจารณายืนยันในขั้นตอนสุดท้าย จึงจะประกาศได้ว่าไทยพบผู้ป่วยยืนยัน
อ่านข่าว - สธ. เตรียมห้องปฏิบัติการทั่วไทย ตรวจไวรัสโคโรนา 3 ชม.รู้ผล
- ใช้เวลาเท่าไรกว่าจะรู้ผลตรวจ?
ทั้งนี้ การตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ จะใช้เทคนิค Real-Time RT-PCR (rRT- PCR) ที่สำคัญคือ ใช้เวลาตรวจวิเคราะห์และรู้ผลภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง หลังจากห้องปฏิบัติการได้รับตัวอย่าง
หาก "ผลตรวจเป็นบวก" จะรายงานผลทันที ในขั้นตอนนี้ หลังยืนยันว่ามีเชื้อจริง เจ้าหน้าที่จะติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยทุกคน ทั้งคนในครอบครัว ผู้ร่วมเดินทาง ผู้ที่อยู่ในเที่ยวบินเดียวกัน รวมถึงแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลรักษาด้วย โดยผู้ป่วยยืนยัน 1 คน จะต้องติดตามเฝ้าระวังในคนอื่นๆ กว่า 40 คน ทั้งหมดนี้ประเทศไทยทำอย่างละมุนละม่อมแต่เด็ดขาด
แต่ถ้า "ผลตรวจเป็นลบ" จะยืนยันอีกครั้งด้วยการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ (Nucleotide sequencing ) ใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ 24 ชั่วโมง
สำหรับคนที่เฝ้าระวังเชื้อไว้รัสโคโรน่า นอกจากการเฝ้าระวังเข้มข้นตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสบามบินที่มีคนแน่นขนัด มีการตรวจคัดกรองอย่างเคร่งครัด โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมห้องปลอดเชื้อความดันลบในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมใช้งาน และมีทีมแพทย์พร้อมเข้าไปตรวจสอบทางระบาดวิทยาอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ทีม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ จะต้องมีการเก็บเสมหะส่งตรวจห้องแล็ปซ้ำอีกครั้งว่าไม่มีเชื้อแล้วจริงๆ
- วิธีป้องกัน ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ออกข้อแนะนำในการป้องกันตัวเองจากโรคปอดอักเสบ (วันที่ 28 มกราคม 2563) ว่า ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นและเมืองที่มีการระบาดตามคำประกาศของทางการจีน หากต้องเดินทางไปต่างประเทศ ระหว่างเดินทางในต่างประเทศขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม แนะนำควรสวมหน้ากากอนามัย
รวมถึงหลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี
อีกทั้งล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" อย่างเคร่งครัด และจะต้องไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งต้องรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากนี้ หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง