ปตท.ปักธงแผนลงทุน 5 ปี ยึดเทรนด์‘พลังงานสะอาด’

ปตท.ปักธงแผนลงทุน 5 ปี  ยึดเทรนด์‘พลังงานสะอาด’

ทิศทางธุรกิจพลังงานทั่วโลกที่มุ่งสู่การผลิตและการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัทพลังงานแห่งชาติ วางกลยุทธ์การลงทุนที่หันเข้าสู่เชื้อเพลิงสะอาดเช่นกัน

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า แผนการลงทุน 5 ปี (2563-2567) ของปตท. และบริษัท ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 180,814 ล้านบาท จะมุ่งขับเคลื่อนการลงทุนตามวิสัยทัศน์สำคัญ คือ รักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ 

โดยงบลงทุนส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนใน 3 ด้านหลัก คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ระบบขนส่งก๊าซฯ และระบบคลังรับ-จ่ายก๊าซ LNG เป็นหลัก

2.ขยายการลงทุนในธุรกิจรีเทลทั้งในส่วนของธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (non oil) ออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ non oil ทั้งร้านกาแฟ อเมซอน และสถานีบริการน้ำมันต่างๆ

และ3. การต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง ซึ่งมีการลงทุนเป็นระดับแสนล้านบาทในประเทศไทย และอยู่ในกระบวนการก่อสร้าง อีก 2-3 ปี จะแล้วเสร็จ เพื่อทำให้เรื่องของน้ำมันที่ใช้ในการเดินทาง ท่องเที่ยว มีความสะอาดมากขึ้น 

การลงทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ที่จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมถึงจะมีการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล ขณะที่ไฟฟ้าที่ใช้ ก็จะเน้นเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ และโรงไฟฟ้าขยะ

158048024697

นอกจากนี้ ปตท.ยังมองหา new s curve ใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตตามทิศทางของโลกในอนาคต รวมถึง ยังมองโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ ผ่านการเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ซึ่งหากได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการก็จะเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น

ด้วยแผนการลงทุนดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างความแข็งเข็มทางธุรกิจให้กับปตท.และส่งเสริมบทบาทของประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ก่อตั้งมาครบ 41 ปี ได้สร้างฐานความมั่นคงทางพลังงานใน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

1.เรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันในภาคตะวันออก สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งออก ในแถบประเทศอินโดจีน ทั้ง กัมพูชา ลาว เวียดนาม รวมถึงเมียนมา และจีนตอนใต้ ปัจจุบัน คุณภาพน้ำมันสูงขึ้น มีการพัฒนาสู่ไบโอฟิว ทั้งการใช้เชื้อเพลิงเอทานอล และไบโอดีเซล

2.เรื่องของกิจการก๊าซธรรมชาติและLNG ปตท. มีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯในทะเล 3 เส้น บนบกอีก 5 เส้น ระยะทางรวมกว่า 4,000 กิโลเมตร และได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้เป็นผู้จัดหาและนำเข้าLNGมาเสริมความมั่นคง ทำให้มีการก่อสร้างคลังรับ-จ่ายLNG แห่งที่ 1 ขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี และคลังแห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปีจะแล้วเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า และอีก 4-5 ปี จะมีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) เกิดขึ้น รองรับได้อีก 5-10 ล้านตันต่อปี ซึ่งปตท.มีประสบการณ์ด้านนี้มากว่า 30 ปี

ขณะที่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการขนส่งก๊าซฯยังสามารถบรรทุกใส่รถขนส่งและเรือขนาดเล็ก เพื่อป้อนLNGให้กับภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ออกแนวท่อส่งก๊าซฯได้ จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่ก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าขายLNGในภูมิภาค หรือ LNG HUB เพราะการขนส่งก๊าซฯไปยังประเทศรอบๆบ้าน ต้องใช้ศักยภาพโครงสร้างพื้นที่จากไทยในการขนส่ง ซึ่ง ปตท.ก็มีคลัง และมีประสบการณ์พร้อม

“การใช้ก๊าซฯจะมีมากขึ้น ตามความต้องการใช้ไฟฟ้า มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดมากขึ้นในประเทศแถบนี้ ตามการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศรอบบ้านที่ยังมีจีดีพีขยายตัวในอัตราสูง"

ดังนั้น การขยายตลาด และถนนต่างๆที่เข้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ ประกอบกับอุตสากรรมต่างๆที่เคยใช้พลังงานไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ พลังงานที่ต้นทุนอาจจะแพงกว่า ก็อาจจะสามารถใช้ LNG นอกแนวท่อก๊าซฯได้ จึงนับเป็นโอกาสของปตท.และประเทศที่จะเกิดขึ้น

และ3.เรื่องของพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบัน ก็มีความร่วมมือกับสปป.ลาวผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง และโซลาร์เซลล์ รวมถึงเป็นผู้นำด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งไบโอดีเซล และเอทานอล มาเป็นระยะยาว

ส่วนการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ disruptive technology ปตท.ยังติดตามกระแสการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ทั้ง รถไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่อาจเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่ โดยกลุ่ม ปตท.มีแผนที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบในประเทศไทย คาดว่าจะประกาศความชัดเจนได้ในเร็วๆนี้