แพทย์จุฬาฯ6ปีตรีควบโท รักษาคน-ออกแบบชีวิตได้

แพทย์จุฬาฯ6ปีตรีควบโท รักษาคน-ออกแบบชีวิตได้

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เปิดหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา เรียน 6 ปี ในปีการศึกษา 2563 นี้เพื่อสร้างแพทย์รุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงมีความเชี่ยวชาญองค์ความรู้ด้านแพทยศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีความรู้วิจัยสาขาที่ใช่ แถมยังออกแบบชีวิตได้เอง

หลังจากจัดการเรียนการสอนมา 73 ปี “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก็ได้เวลาที่เหมาะสมในการปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพิ่มช่วงเวลาที่นิสิตสามารถเลือกเรียนวิชาเลือก วิชาที่สนใจได้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตค้นพบตัวเอง รวมถึงเสริมสร้างความถนัดในด้านที่ต้องการ เช่น ด้านวิจัย ด้านบริหาร เป็นต้น

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าด้วยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คน และเด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมถึงองค์ความรู้ในบางเรื่องของคณะแพทยศาสตร์ที่เด็กศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลได้ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ยุคดิสรัปชั่น ตั้งแต่ปี 2560 คณะแพทย์ จุฬาฯ ได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมุ่งเพิ่มช่วงเวลาที่นิสิตสามารถเลือกเรียนวิชาเลือก วิชาที่ตนเองสนใจได้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตค้นพบตัวเอง รวมถึงเสริมสร้างความถนัดในด้านที่ตนเองต้องการ เช่น ด้านวิจัย ด้านบริหาร เป็นต้น

158064220843

เรียน6ปีได้ปริญญาตรีควบโท

สำหรับการเปลี่ยนแปลงและเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2563 นี้ คณะแพทย์ จุฬาฯจะเปิดการเรียนการสอน 2 ปริญญา เรียนภายใน 6 ปี โดยหลักสูตรดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากแพทยสภา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเด็กที่เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์จะเรียนด้วยช่วงเวลา 6 ปีเช่นเดิม แต่เมื่อจบการศึกษาพวกเขาจะได้ 2 ปริญญา เป็นหลักสูตรข้ามศาสตร์ข้ามระดับ และ 2 ระดับที่จะได้รับคือปริญญาตรีควบปริญญาโท ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต วิศวกรรมชีวเวช โดยนิสิตแพทย์ยังคงเรียนรู้เฉพาะทางด้านการแพทย์ เมื่อจบการศึกษาสามารถเป็นแพทย์ได้เหมือนหลักสูตรอื่นๆ แต่ระหว่างเรียนนิสิตจะมีความถนัดในเชิงวิศวกรรม เรียนแบบบูรณาการร่วมกัน

     

เมื่อจบการศึกษาบัณฑิตแพทย์กลุ่มนี้จะทำงานด้านแพทย์โดยตรง หรือศึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือศึกษาต่อด้านวิศวกรรมชีวเวช เป็นแพทย์ที่มีศาสตร์วิศวกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง แพทย์ที่มีความรู้ ใช้ AI เข้ามาช่วยในการรักษา รวมถึงคิดประดิษฐ์เครื่องมือการรักษา แพทย์ที่ทั้งรักษาคนได้และสร้างนวัตกรรม หรืองานวิจัยด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เปิดกว้างการทำงาน ศึกษาวิจัย และวงการแพทย์ร่วมพัฒนาประเทศต่อไป

โดยปีแรกของการเปิดรับจะคัดเลือกนิสิตแพทย์ที่สมัครเข้ามาเรียนโดยผ่านระบบการรับคัดเลือกและได้มาเรียนแพทย์ในปีการศึกษา 2563 ก็จะคัดเลือกนิสิตที่มีความพร้อม ความถนัด ความสนใจด้านวิศวกรรม ประมาณ 10 คน มาเรียนในหลักสูตรดังกล่าว นิสิตที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวคณะคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯมีทุนการศึกษายกเว้นค่าเล่าเรียนให้

158064220779

ในอนาคตแม้จะมีเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ช่วยให้การทำงานได้เร็วขึ้น คล่องขึ้นแต่ไม่อาจใช้แทนแพทย์ 100% ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวต่อว่าแต่ถึงอย่างนั้นคณะแพทยศาสตร์ยังคงเป็นสาขาวิชาที่ต้องเรียนรู้เฉพาะทาง ฝึกจากภาคปฏิบัติ ศึกษาวิจัย เพื่อเชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริงก่อนจะมารักษาผู้ป่วย หรือคิดค้นวิธีการทางการแพทย์

เพราะศาสตร์ในวิชาชีพแพทย์ยังคงต้องอาศัยแพทย์ที่เป็นคนจริงๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และช่วยในการตัดสินใจ เครื่องมือเทคนิค รวมถึงค้นคว้า ค้นพบแนวทางการรักษาใหม่ๆ นิสิตแพทย์จุฬา ฯ มีอัตลักษณ์ ทั้งด้านความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบและความเอื้ออาทร เพราะยังเป็นโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ที่มีคุณภาพ มาตรฐานระดับนานาชาติ

ปี64รับป.ตรีเรียนแพทย์อินเตอร์

นอกจากนี้คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ยังมีแผนที่จะเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ 4 ปี ในปีการศึกษา 2564 ซึ่งหลักสูตรอยู่ระหว่างการพิจารณาของแพทยสภา โดยเปิดรับบุคคลที่จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ที่สนใจอยากเรียนด้านการแพทย์มาศึกษาต่ออีก 4 ปี แต่การรับเข้าต้องผ่านการคัดเลือกของคณะ เพราะต้องรักษาไว้ซึ่งมาตรฐาน 

      158064231187

การเรียนการสอนจะปลูกฝังความรู้สึกการเป็นแพทย์ตั้งแต่ปีแรกกับความรู้ทางด้านแพทย์ แต่จะไม่ได้เป็นการเรียนแบบเลคเชอร์ นิสิตต้องศึกษาค้นคว้าเอง โดยจะมีอาจารย์แพทย์ทั้งในและต่างประเทศ คอยให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพราะผู้ที่มาเรียนไม่ใช่เด็กม.ปลาย แต่เป็นคนทำงาน หรือคนที่จบปริญญาตรีมาแล้ว นอกจากนั้น นิสิตจะได้ไปศึกษา หรือฝึกปฎิบัติด้านแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่าการผลิตแพทย์ในหลักสูตรนานาชาติครั้งนี้ นอกจากตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economy Corridor)

158064220870

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวอีกว่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในการเป็นพื้นที่ดำเนินการสอนนักเรียนแพทย์ ซึ่งอนาคตจะมีเส้นทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกโดยใช้รถไฟความเร็วสูง ดังนั้น การผลิตแพทย์ในหลักสูตรดังกล่าวจะตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และรองรับผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ ใช้เชื่อมโยงในการดูแลรักษาในบริบทของความเป็นนานาชาติ และตอบโจทย์ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อีก

"เพราะแพทย์ไม่ได้มีเฉพาะที่รักษาโรค แต่มีแพทย์นักวิจัย แพทย์นักบริหาร แพทย์นักวิทยาศาสตร์ โรงเรียนแพทย์ ไม่ใช่เพียงการจัดการเรียนการสอน ผลิตแพทย์คุณธรรม มีมาตรฐานระดับสากลเท่านั้น แต่ต้องช่วยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ ศึกษาวิจัย และสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อยกระดับการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้าและได้รับการยอมรับ เป็นสถาบันมาตรฐานระดับโลก"ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย