ดอกเบี้ยนโยบาย 'ต่ำสุด' ได้แค่ไหน?
เวลานี้อาจมีคำถามว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ลงมาอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์เพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจไทยหรือไม่ และดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับนี้ ถือเป็นระดับต่ำสุดของวัฎจักรเศรษฐกิจรอบนี้หรือยัง
คำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ที่ตัดสินให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2563 "ไม่โมฆะ" แต่ขอให้กลับไป "โหวต" วาระ 2-3 ใหม่ อาจทำให้การใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมบ้างราว 1 เดือน จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าจะเริ่มนำมาใช้ได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.2563 แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าถูกวินิจฉัยให้เป็นโมฆะไป เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น กว่างบประมาณปี 2563 จะนำออกมาใช้ได้ คงต้องล่าช้าไปอีกหลายเดือน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จึงนับเป็น "ข่าวดี" ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญความยากลำบากอย่างแสนสาหัส
อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกปัญหางบประมาณปี 2563 เปรียบได้เพียง "พายุ 1 ลูก" ที่ลดกำลังลง แต่เรายังคงเผชิญพายุลูกอื่นอีกหลายๆ ลูก ซึ่งกำลังสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กระทบการท่องเที่ยวไทย ประเมินกันว่า ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากภาคการท่องเที่ยวราว 2-3 แสนล้านบาท รวมไปถึงปัญหาภัยแล้งซึ่งปีนี้ นับว่ารุนแรงสุดในรอบหลายๆ ปี ยังไม่นับรวมปัญหาสงครามการค้าระหว่าง "สหรัฐ" กับ "จีน" ที่แม้จะจบดีลเจรจาในเฟสแรกได้แล้ว แต่กำแพงภาษีที่เคยตั้งไว้ ยังคงอยู่ระดับเดิมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดนี้จึงถือเป็น "เพอร์เฟ็กต์ สตอร์ม" ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย
การตัดสินใจ "ลด" ดอกเบี้ยนโยบายโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งลดลงอีก 0.25% สู่ระดับ 1.00% เป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ ถือเป็นการ "เทกแอคชั่น" ที่เร็วของ กนง. เพราะต้องยอมรับว่า "พายุ" ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในเวลานี้ ได้สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล หลายสำนักวิจัยประเมินกันว่า อาจทำความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสูงกว่า 1% ของจีดีพี
เวลานี้อาจมีคำถามว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ "เพียงพอ" ต่อการดูแลเศรษฐกิจไทยหรือไม่ และดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับดังกล่าว ถือเป็นระดับ "ต่ำสุด" ของ "วัฎจักรเศรษฐกิจ" รอบนี้หรือยัง ...เรื่องนี้แม้ว่า ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. จะระบุว่า หากสถานการณ์ในอนาคตเลวร้ายลงกว่าเดิม ก็พร้อมใช้ Policy space หรือพื้นที่นโยบายที่เหลืออยู่ในการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพียงแต่ต้องตระหนักร่วมกันว่า ไม่มีเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด และควรต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำด้วย
เราเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1% น่าจะเป็นระดับต่ำสุดหรือใกล้เคียงจุดต่ำสุดเท่าที่ กนง. จะปรับลดได้ เพราะเงินเฟ้อในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 1% การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อ จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน หรือ Search for yield มีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ยังมีต้นทุน “ภาษีเงินฝาก” อีก 0.47% ที่ต้องแบ่งจ่ายให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 0.46% และสถาบันคุ้มครองเงินฝากอีก 0.01% ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า 1% จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ระบบการเงินไทย “เปราะบาง” มากขึ้น เราเชื่อว่าหากสถานการณ์บีบคั้นให้ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเพิ่ม... กนง.คงมองทางเลือกอื่นมากกว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย