มาตรการงดถุงพลาสติก อย่าเป็นเพียงแค่ย้ายขยะ A ไปเป็นขยะ B
อย่าให้มาตรการงดให้และใช้ถุงพลาสติก กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างขยะรูปแบบใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นถุงขยะพลาสติกที่หนามากกว่าเดิม หรือจะเป็นขยะถุงกระดาษและถุงผ้า ดังนั้นการวางแผนระยะยาวถือเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนต้องร่วมมือไม่ให้เกิดภาวะขยะล้นเมือง
ข่าวใหญ่ที่กระทบวงการสิ่งแวดล้อมในปีนี้ หนีไม่พ้นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการงดแจกถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำทั่วไทย แม้ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมที่มาแรงแซงโค้งนี้จะได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับความพยายามลดถุงในอดีต แต่ก็ยังมีผู้คนมากมายที่กังวลใจว่านโยบายนี้จะได้ผล มีคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นแค่ย้ายขยะพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว เป็นขยะพลาสติกแบบหนาขึ้น และเพิ่มขยะถุงผ้า ถุงกระดาษ ที่ถูกนำมาใช้แทนถุงพลาสติกกันอย่างโกลาหล
- โรดแมพการจัดการขยะพลาสติก "มีอยู่" แต่ไม่สน
เมื่อพิจารณาจากโรดแมพการจัดการขยะพลาสติกของรัฐบาล ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ต.ค.2561 ตั้งเป้าหมาย ปี 2565 จะลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 100% ภายในปี 2565 จะใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100%
ภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณปีละ 780,000 ตัน ลดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยปีละ 3,900 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
แต่ด้วยอะไรบันดาลใจท่านรัฐมนตรีก็ไม่รู้ ท่านมารับตำแหน่งเดือน ก.ย. ก็ประกาศเลย โดยไม่ได้สนใจกับโรดแมพที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสรุปร่วมกัน ประเทศไทยจะไม่มีขยะพลาสติกอีกแล้ว ด้วยการเลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า 100% ที่มาซื้อของตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป
กระนั้นก็ไม่รู้ว่าทำสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่โรงงานผลิตถุงพลาสติกหูหิ้วกว่า 450 ราย อาจต้องปิดกิจการ หลัง ครม.ร่นเวลาโรดแมพให้เร็วขึ้น 2 ปี จาก 1 ม.ค.2565 เป็น 1 ม.ค.2563 กว่า 400 โรงงานเคว้ง 40,000 คนจ่อตกงาน คาดอุตสาหกรรมกระทบมากกว่า “พันล้าน”
- ถุงผ้าหรือถุงกระดาษ "ดีกว่า" ถุงพลาสติกจริงหรือ?
ใช่ว่า “ถุงกระดาษ” จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะต้องตัดต้นไม้มาผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักให้เกิดภาวะโลกร้อน ประเทศไทยก็รณรงค์จากการเลิกใช้ถุงกระดาษมาใช้ถุงพลาสติกแทนมากว่า 2 ทศวรรษแล้วจะกลับไปใช้ถุงกระดาษอีกหรืออย่างไร
แล้ว “ถุงผ้า” ล่ะ ผลการวิจัยที่เผยแพร่โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหารของเดนมาร์กเมื่อปี 2561 ที่ประเมินวัฏจักรชีวิตของถุงชอปปิงทุกชนิด ตั้งแต่ถุงกระดาษไปจนถึงถุงพลาสติก พบว่าถุงผ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะที่ถุงพลาสติกกลับเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้จะไม่มีการรีไซเคิลก็ตาม เช่นเดียวกับผลวิจัยของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของอังกฤษเมื่อปี 2554
"การแบนถุงพลาสติก" ยังทำให้เกิดภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "การรั่วไหล" คือเมื่อห้ามใช้สินค้าชนิดหนึ่ง ก็ทำให้สินค้าชนิดอื่นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ที่เป็นเช่นนี้เพราะฝ้ายที่ใช้ผลิตถุงผ้าต้องใช้ทั้งที่ดิน น้ำ และปุ๋ยในการเติบโต ทั้งยังต้องเก็บเกี่ยว นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปต่างๆ ขณะที่ถุงพลาสติกเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง จึงไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิต
“การแบนถุงพลาสติก” ยังทำให้เกิดภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “การรั่วไหล” คือเมื่อห้ามใช้สินค้าชนิดหนึ่งก็ทำให้สินค้าชนิดอื่นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ตัวอย่างนี้มีให้เห็นแล้วในสหรัฐที่เคยต่อต้านการห้ามใช้ถุงพลาสติกมาก่อนหน้านี้! ผลการศึกษาพบว่า เมืองที่แบนถุงพลาสติกก่อนปี 2559 มีขยะพลาสติกลดลง 18.14 ล้านกิโลกรัม แต่กลับมีการซื้อถุงพลาสติกใส่ขยะ (ถุงดำ) เพิ่มอย่างน่าตกใจ! ขณะนั้นยอดขายถุงขยะ (ถุงดำ) ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพิ่มขึ้น 120% 64% และ 6% ตามลำดับ
สุดท้ายแล้วแม้จะลดการใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้ แต่กลับต้องผลิตถุงขยะที่หนากว่าขึ้นมาแทน