ถึงเวลาเดินหน้าเสริมแกร่งการค้า-ลงทุน ลุยร่วม CPTPP-FTA EU
ไทยกำลังถูกท้าทายจากการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางการค้าจากประเทศคู่แข่งหรือคู่เปรียบของไทย ที่ต่างเร่งเสริมศักยภาพผ่านข้อตกลงทางการค้าในกรอบต่างๆ แม้ในข้อเท็จจริงความสามารถแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงแต่การอยู่เฉยๆก็เท่ากับกำลังถอยหลัง
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ว่าที่ประชุมฯได้หารือกันถึงเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งประเทศไทยได้เคยประกาศว่ามีความสนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วและได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาโดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการศึกษาและเก็บข้อมูลและได้มีการนำเอาข้อดีข้อเสียของการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP มารายงานให้ที่ประชุม กนศ.รับทราบก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อให้ตัดสินใจว่าเราจะเดินหน้าเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่โดยคาดว่าจะมีการเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ภายในเดือน เม.ย. - พ.ค.ที่จะถึงนี้
“ในรายงานของกระทรวงพาณิชย์ชี้ถึงความกังวลเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งได้มีการยกเลิกไปแล้ว ส่วนเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชการเก็บเมล็ดเพื่อเพาะปลูกสามารถทำได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะมีผลกระทบกับประเทศไทยหากกระทบคนส่วนใหญ่แบบนั้นเรายอมไม่ได้ แต่เรื่องที่กระทบไม่มาก เราสามารถที่จะเจรจา ต่อรองได้ เช่นเวียดนามต่อรองบางเรื่องออกไป ถึง 20 ปี"
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการรายงานเรื่องความคืบหน้าในการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย - สหภาพยุโรป (อียู) ภายหลังจากที่เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมารัฐสภาของอียูได้ให้การรับรองข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างเวียดนามกับอียูแล้ว โดยในส่วนของประเทศไทยซึ่งการเจรจาหยุดชะงักไปก่อนหน้านี้เนื่องจากเรายังไม่มีการเลือกตั้งก็ให้มีการเร่งรัดการเจรจาซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังเร่งเจรจาในเรื่องนี้ โดยการเจรจาเอฟทีเอไทย - อียูถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากอียูเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของไทย
อรมน ทรัพย์ทวีธรรมอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า โดยภาพรวมถ้าประเทศไทยไม่เข้าร่วมCPTPP จะทำให้เสียโอกาสทั้งด้านการค้าและการได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ซึ่งขณะนี้2ประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมแล้วคือสิงคโปร์และเวียดนาม ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือข้อตกลงนี้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ย6-9%ขณะที่ประเทศไทยขยายตัวในระดับต่ำ
หลังจากที่ประชุม กนศ. รับทราบแล้วกระทรวงพาณิชย์จะจัดทำข้อมูลในรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนเม.ย.นี้ และหาก ครม.อนุมัติให้ประเทศไทยเสนอตัวเข้าร่วมกรอบความตกลงCPTPPกระทรวงพาณิชย์จะแสดงความจำนงไปยังประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลของประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมกรอบความตกลงเพื่อให้ประเทศสมาชิกของกลุ่มที่ปัจจุบันประกอบด้วย7ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เม็กซิโก แคนาดา สิงคโปร์ เวียดนาม ประชุมในเดือน ส.ค. นี้ และหากทั้ง7ประเทศตกลงยอมรับประเทศไทย หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการเจรจา
ทั้งนี้หลัง ครม.อนุมัติแล้วทางเราก็ต้องตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงาน เพื่อจรจาต่อรอง ซึ่งในประเด็นใดที่ยังเป็นเรื่องอ่อนไหวก็สามารถต่อรองได้ทางประเทศสมาชิกเองเขาต้องการมีสมาชิกเพิ่มก็ให้มีการต่อรองได้ ซึ่งเวลานี้ไม่เพียงประเทศไทยที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วม แต่ยังมี เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย โคลัมเบีย
“การเข้าร่วมกรอบความตกลงCPTPPจะไม่มีประเด็นสิทธิบัตรยาให้กังวล เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ เสนอเข้ามาในช่วงเริ่มต้น แต่ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ถอนตัวไปจากกรอบความตกลงแล้ว ส่วนประเทศสมาชิกที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้”
สำหรับการเตรียมการเรื่องการทำFTAไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาขั้นสุดท้าย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนก.พ. หรือต้นมี.ค.2563 จากนั้นจะนำเสนอผลการศึกษา ผลดี ผลเสีย ข้อกังวล ข้อเสนอแนะ ให้ กนศ. พิจารณา ถ้าเห็นควรทำFTAก็จะเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติทำFTAกับอียูต่อไป คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปประมาณช่วงกลางปีนี้
อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าเวียดนามในอียูก็มีจำนวนมากอยู่แล้วก่อนที่จะทำเอฟทีเอ โดยเฉพาะผักผลไม้ ขณะที่ผักผลไม้ไทยมีจำนวนน้อย ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยในตลาดยุโรปหากไม่ดำเนินการอะไรสินค้าไทยหลายรายการที่ส่งออกไปในยุโรปอาจจะโดนสินค้าจากเวียดนามตีตลาด นอกจากนี้อุตสาหกรรมบางอย่างที่ได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอก็จะได้รับการพัฒนาเทียบเท่ากับประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรม 4.0