ธปท.ตั้งทีมรวมศูนย์ 'ข้อมูลชำระเงิน' ของประเทศ
“แบงก์ชาติ” ตั้ง คณะทำงาน ทำแผนบูรณาการ รวมศูนย์ข้อมูลชำระเงิน หนุนภาครัฐ -เอกชนนำไปใช้ประโยชน์ ช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด ชี้เป็นประโยชน์ระยะยาว เป็นข้อมูลสนับสนุนทำนโยบาย แจงไม่ได้มีเป้าหมายดเป็นช่องทางช่วยรัฐรีดภาษี
แหล่งข่าววงการการเงิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงาน เพื่อผลักดันการบูรณาการข้อมูลการชำระเงิน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการรวมศูนย์จัดเก็บข้อมูลทางการเงินที่สำคัญของประเทศ การเชื่อมโยงและแชร์ข้อมูลระหว่างกันทำได้ยาก ทั้งติดข้อกฏหมาย และรูปแบบการจัดเก็บ และระบบแต่ละแห่งไม่สอดคล้องกัน ขณะที่ต้นทุนการจัดเก็บ ตรวจสอบความถูกต้อง และการบริหารจัดการค่อนข้างสูง
ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ข้อมูลทางการเงินและธุรกรรมต่างๆ จะยิ่งทวีความสำคัญขึ้น ในการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่มีประสิทธิ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้กับภาคเอกชน โดยภาครัฐ มีความต้องการเก็บข้อมูลในระดับจุลภาค (Micro-level) มากขึ้น ในลักษณะ Big data database เพื่อให้การดำเนินนโยบายช่วยเหลือผุู้มีรายได้น้อยตรงกลุ่มเป้าหมาย มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดำเนินนโยบายการเงินการคลังได้อย่างทันการณ์ ในภาวะที่วัฏจักรเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า การบูรณาการข้อมูลชำระเงิน เป็นหนึ่งในยุทธ์ศาสตร์ของธปท. รวมข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง ให้มาอยู่ที่เดียวกัน เพราะธปท.มองว่าข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยในการทำนโยบาย ช่วยในการตัดสินใจ ช่วยในการทำธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งข้อมูลจะมีส่วนทำให้เกิดการต่อยอด การทำธุรกรรมต่อเนื่องไปได้อีกมาก
ขณะเดียวกัน ข้อมูลต่างๆที่ถูกรวมไว้ จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า เช่น องค์กรต่างๆ รวมถึงแบงก์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ารายบุคคล ตอบโจทย์ได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการการเงินได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงเป็นความพยายามของธปท. ที่จะบูรณาการข้อมูลที่มีอยู่ ให้เกิดการประสานกัน เพื่อให้เกิดการนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้การรวมข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นจะเริ่มที่ข้อมูลชำระเงินก่อน ก่อนที่จะขยายไปสู่ข้อมูลอื่นๆตามมาในอนาคต
"การนำข้อมูลไปใช้ อย่างแรกเราต้องรู้ก่อนว่า การรวมข้อมูลเข้าด้วยกัน มีประโยชน์อะไร และจะใช้ต่ออย่างไร ไม่งั้นการรวมข้อมูลก็ไม่เกิดประโยชน์ และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ข้อมูลหลายตัวอาจเปิดเป็นสาธารณะ ให้ประชาชนหยิบมาใช้ประโยชน์ได้ หรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกของธปท. ก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ เพื่อใช้วิเคราะห์ ประมวลผลต่างๆให้รู้ถึงความต้องการ และการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น อีกด้านข้อมูลช่วยทำเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ เช่นดูการเข้าถึงบริการทางการเงิน ว่าตำบลไหน จังหวัดไหนเข้าถึงบริการทางการเงินน้อยหรือไม่ หากน้อยเราสามารถเข้าไปช่วยเหลือ ให้ประชาชนในเขตนี้ได้รับบริการทางการเงินที่ทั่วถึงมากขึ้น หากเราสำรวจเองต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้นข้อมูลที่ครบรอบด้านสำคัญมาก"
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ธปท.มีการรวบรวมเหล่านี้ จะไม่ได้เป็นการรวบรวมข้อมูลที่ระบุตัวตน แต่จะนำข้อมูลมาตัดหัวตัดหาง เพื่อนำมาวิเคราะห์ ซึ่งจะไม่กระทบต่อเจ้าของข้อมูลแน่นอน อย่างไรก็ตาม การนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะช่วยในการเก็บภาษีได้มากขึ้น เพราะข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการระบุตัวตน ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี