โลจิสติกส์เชื่อมระบบสาธารณสุข BI-BigData บริหารคลังยา-เวชภัณฑ์

โลจิสติกส์เชื่อมระบบสาธารณสุข  BI-BigData บริหารคลังยา-เวชภัณฑ์

เดินหน้า“โครงการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานและระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและแนวทางการริเริ่ม Big Data ด้านสาธารณสุขสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย ”เฟส 3 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานนำไปสู่บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน

แม้ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของเอเชีย และอันดับ6 ของโลกในด้านความมั่นคงทางสุขภาพ (Health Security) จากการสำรวจ 195 ประเทศ แต่ท่ามกลางภูมิทัศน์ใหม่ของคุณภาพชีวิตยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและเกิดอุบัติใหม่เชื้อไวรัสโคโรนา2019 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและธุรกิจอุตสาหกรรม 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(มม) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) พร้อมด้วยสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ได้ลงนาม MOU  ข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานและระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและแนวทางการริเริ่ม Big Data ด้านสาธารณสุขสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย ”เฟส 3 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานนำไปสู่การบริหารจัดการและบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน

158195046887

รศ.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยเฟสแรก เริ่มในวันที่ 9 ก.ย.2559 ซึ่งเป็นการวิจัยยาในประเทศไทยกระจายไปอยู่ที่ไหน ตรวจสอบย้อนกลับได้หรือไม่ รวบรวมข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย หรือจัดทำBig Data ซึ่งได้มีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงเข้ากับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสุขภาพทั้งระบบต่อมาด้วยเฟส 2 ได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะและลำดับความสำคัญในการขับเคลื่อน eHealth มีองค์ประกอบทั้ง 3ด้าน การกำกับดูแล การวางฐานราก และการแก้ปัญหา

โดย 2 เฟสที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ให้สามารถสะสมทุกรหัสยาได้มากกว่า 150,000 รายการ ในระยะที่ 2 สามารถผูกสัมพันธ์ยาเพื่อการค้นหารหัสยาได้ทั้งสิ้น 11 คู่ เป็นจำนวนมากกว่า 50,000 รายการ พัฒนาฐานโปรแกรมบริหารและจัดทำข้อมูลยาสำหรับประชาชน เพิ่มเติม 53 รายการจากเดิมที่ได้ทำสะสมรหัสไว้ 200 รายการ รวมเป็น 253 รายการ และโปรแกรมบริหารจัดการร้านยา การพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาล โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 18 แห่ง พัฒนาระบบต้นแบบสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างโรงพยาบาลและผู้จัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ และระบบต้นแบบการติดตาม สอบกลับยาและเวชภัณฑ์

“ข้อมูลในระบบสาธารณสุขไทยไม่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบาย หรือการไหลของโลจิสติกส์ไม่เชื่อมโยงกัน อันนำไปสู่การทำงานข้ามหน่วยงานไม่ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของสารสนเทศในระบบสาธารณสุข ตั้งแต่การจัดทำรหัสยา ทำฐานข้อมูลกลาง โปรแกรมทำยาหรือเวชภัณฑ์ จัดทำดิจิทัล ดาต้า โปรแกรมพัฒนาคลังยา และระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการซื้อขาย” รศ.ดวงพรรณ กล่าว 

โดยขณะนี้ได้มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นำไปใช้มากกว่า 40 แห่ง และมีเป้าหมายมากกว่า100แห่ง ขยายผลสู่โรงพยาบาลเอกชน และเป็นแพลตฟอร์มต่อยอดสู่กัญชา วัคซีน Cold Chain หรือการควบคุมอุณหภูมิของวัคซีนต่อไป

สำหรับเฟส 3 นี้ จะเป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงลึกด้านยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลในสังกัดสธ.เพื่อสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ทางยาและเวชภัณฑ์ พัฒนาระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งาน พัฒนาระบบเชื่อมต่อโปรแกรมการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์กับระบบ BI และศึกษาวิจัย ออกแบบเพื่อพัฒนาระบบการจัดการคลังยาของโรงพยาบาลโดยจัดจำหน่ายผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านสาธารณสุข

158195047565

ภก.นพดล ชลอธรรม อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่ายาถือเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ต้องนึกถึงในระบบสุขภาพ เมื่อมีการพูดถึงเรื่องยาจะทำอย่างไรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะยาแต่ละบริษัทชื่อการค้ามีความต่างกัน แต่ชื่อสามัญทางยาจะเหมือนกัน ส่วนรูปแบบยา ทั้งยาเม็ด ยาน้ำมีการใช้แตกต่างกัน    

ดังนั้น การสื่อสารที่ตรงกันเรื่องผลิตภัณฑ์ยาจึงเป็นสิ่งแรก รากฐานที่สำคัญ ในประเทศไทยมีรหัสยา ข้อมูลยาหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นรหัสยาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เลขบัญชียา บัญชียาหลักแห่งชาติ ข้อมูลยาสำหรับประชาชน การวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการรวบรวมข้อมูลยา เพื่อจัดทำรหัสยาและคลังยาเข้าไว้ด้วยกัน

ในระยะที่ 3 จะมีการเพิ่มเติมรหัสยามากขึ้น ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO ของยุโรป เพื่อให้อนาคตฐานข้อมูลดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ สื่อสารเข้าใจตรงกัน ทำให้รู้ชื่อยา ข้อมูลยาที่ตรงกันได้ระบบของโรงพยาบาลและผู้จัดจำหน่ายมีอยู่หลายระบบ ซึ่ง 2 เฟสที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันเพื่อจัดทำโปรแกรม และการติดตามผล 

รศ.พงศธร เศรษฐีธร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการติดตามยาจากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย โครงการดังกล่าว ได้มีการจัดทำบันทึกข้อมูลยาในแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้รหัสยาเป็นตัวหลัก มีการเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ในโรงพยาบาล หรือหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อทำให้เห็นภาพรวมนำไปสู่การบริหารจัดการ สั่งซื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาล ขณะที่ประชาชนจะเห็นที่มาที่ไปของการบริหารจัดการ การสั่งซื้อยาของโรงพยาบาล ในเฟส 3 นี้ จะมีการจัดทำโปรแกรมคลังยาอย่างมีมาตรฐาน มีการอัพเดทเวอร์ชั่น เพื่อสามารถเห็นการไหลของยาผ่านโปรแกรม และหลังจากนี้ทางทีมมีแผนดำเนินการต่อในส่วนของ BI เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทั้งในเชิงนโยบายและปฎิบัติ

158195047591

ดร.รวินกานต์ ศรีนนท์ อาจารย์คณะวิศวกรรมาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าในส่วนของ BI จะ เป็นการประมวลผลข้อมูลและแสดงผลออกมาในหลายมิติ เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้ที่ทำงาน โดยในเฟสที่ 3 นี้ ตัวงานของ BI จะมีการดีไซต์ให้เหมาะสม รองรับกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข กรมต่างๆ โรงพยาบาลที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลคลังของโรงพยาบาลตัวเองและโรงพยาบาลอื่นๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ขนาดเท่ากัน หรือในส่วนของเขตสุขภาพ

ขณะนี้ได้มีการดำเนินการออกแบบ จัดวางระบบและเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ ซึ่งเมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลจะเข้าสู่โปรแกรมแสดงผลข้อมูลได้ชัดเจน โดยเบื้องต้นจะเป็นเรื่องยาที่อยู่ในคลังยา ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศว่าเป็นยาอะไร กระจายตัวอยู่ที่ไหน ดูเรื่องของราคายาที่ซื้อ เห็นเชิงปริมาณและคุณภาพยาในประเทศไทย ค้นหายาตามภูมิภาคต่างๆ เรื่องแนวโน้ม การคาดการณ์ในอนาคต รวมถึงการจัดซื้อ การจ่ายยา และเรียงมูลค่ายาตามกลุ่มโรค เป็นต้น ดังนั้น BI จะเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ทุกกลุ่มสามารถบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้แก่ทุกผู้บริหารสธ. โรงพยาบาล ผู้จัดจำหน่ายต่างๆ รวมถึงประชาชนร่วมด้วย