‘เอเชีย’ รั้งแชมป์ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากสุดในโลก
เอเชีย ยังครองสัดส่วนส่วนใหญ่ของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลมากที่สุดในโลก นำโดยมาเลเซียที่เป็นเบอร์ 1 ด้านนี้ในทวีป ด้านองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ เป็นเพราะยังขาดนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหานี้
กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยแพร่รายงานล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (17 ก.พ.) พบว่า 60% ของจำนวนขยะพลาสติกซึ่งมีการทิ้งลงสู่มหาสมุทรทั่วโลกประมาณ 8 ล้านตันในแต่ละปี มาจากจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามรวมกัน
ปริมาณการทิ้งขยะพลาสติกรวมกันทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า ในช่วงระหว่างปี 2553-2593 นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ไม่มีการแก้ไขใด ๆ หรือออกแต่มาตรการป้องกันที่ไร้ประสิทธิภาพ ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลจะมากกว่าน้ำหนักของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรรวมกัน
ขณะเดียวกัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเผาทำลาย แตะที่ 860 ล้านตันในปี 2562 มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนรายปีของไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมกัน
รายงานของ WWF เผยว่า หากจำแนกเป็นรายประเทศพบว่า มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อประชากรสูงที่สุดในบรรดา 6 ประเทศที่กล่าวถึง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16.8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี รองลงมาคือ ไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 15.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
โธมัส ชูลด์ ผู้ประสานงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเกี่ยวกับพลาสติกของ WWF กล่าวถึงสถานการณ์ขยะพลาสติกในมาเลเซียว่า ชาวมาเลเซียใช้พลาสติกมากที่สุด เพราะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความมั่งคั่งมากที่สุด
"ปัจจุบัน มีบริการส่งอาหารมากมายที่นิยมใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และยังมีการซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแบบวันต่อวันมากเช่นกัน"
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ เสริมว่า รัฐบาลมาเลเซียยังไม่มีมาตรการที่จริงจัง เพื่อควบคุมการใช้ถุงพลาสติกตามซูเปอร์มาร์เก็ตและในร้านสะดวกซื้อ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ ออกกฎหมายจำกัดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
ในขณะที่เศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่เติบโตเร็วในหลายพื้นที่ของเอเชีย และมีการขยายเขตที่อยู่อาศัยจากใจกลางเมืองออกไปยังพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมากขึ้้น แต่บริการและระบบโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บขยะ ไม่ได้รับการพัฒนารวดเร็วตามการขยายตัวเหล่านี้
การที่รัฐบาลจีนยุตินำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทเมื่อปี 2561 เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปริมาณขยะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรดาชาติตะวันตกเบี่ยงเส้นทางส่งออกขยะมายังภูมิภาคนี้แทน ถือเป็นความท้าทายใหม่สำหรับทุกประเทศในภูมิภาคในการป้องกันและกำจัดขยะจากภายนอก