แอพสั่งอาหาร กับอำนาจของการรวมศูนย์
ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน โดยในต่างประเทศเรียกร้องให้มีกฎหมายกำกับดูแล เพราะมองว่าแอพพลิเคชั่นเหล่านี้มีอำนาจของการรวมศูนย์ จนร้านอาหารทั่วไปปราศจากอำนาจในการต่อรอง
ในหนึ่งปีที่ที่ผ่านมา คงมีน้อยคนที่ไม่เคยใช้ หรือกระทั่งไม่เคยรู้จักแอพสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่
แอพสั่งอาหารเหล่านี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเริ่มดิสรัปพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล
อาหาร มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของปัจจัยสี่ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและไม่สามารถขาดได้ การดิสรัปห่วงโซ่ของปัจจัยสี่ ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของมนุษย์
ในด้านบวก แอพสั่งอาหารช่วยแมตช์ลูกค้ากับร้านอาหาร และอำนวยความสะดวกด้วยการขนส่ง เป็นการเพิ่มรายได้ช่องทางใหม่ให้กับร้านอาหาร นอกเหนือจากลูกค้ากลุ่มเดิมที่เดินทางมาที่ร้าน
จนกระทั่งเกิดเป็นธุรกิจใหม่ของร้านอาหารประเภทเวอร์ชวล หรือครัวผี (Virtual Resturants, Ghost Kitchens, Cloud Kitchens ฯลฯ) ที่ไม่มีหน้าร้าน แต่มีผลิตอาหารสำหรับส่งลูกค้าที่สั่งผ่านแอพแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ในด้านลบ เริ่มมีการกล่าวถึงในต่างประเทศ จนกระทั่งได้มีการเสนอกฎหมายออกมากำกับดูแล
โดยเนื้อเรื่องมีอยู่ว่า แอพสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งกลายมาเป็นธุรกิจขนาดยักษ์ มีอำนาจของการรวมศูนย์จนร้านอาหารโดยทั่วไป ปราศจากอำนาจในการต่อรอง เพื่อเงื่อนไขที่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ โดยความไม่เป็นธรรมดังกล่าวประกอบไปด้วย
การหักค่าหัวคิวที่อาจไม่เป็นธรรมกับร้านอาหารการให้บริการเดลิเวอรี่ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของร้านอาหารการไม่แชร์ข้อมูลของลูกค้าที่ปลายทางให้กับร้านอาหาร
สำหรับกรณีที่ 1. และ 2. คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก แต่สำหรับกรณีที่ 3. นั่นหมายความว่า ร้านอาหารเหล่านี้ นอกจากจะไม่มีปฏิสัมพันธ์ตรงกับลูกค้า แต่ยังจะไม่รู้ด้วยว่าลูกค้าที่ปลายทางนั้นเป็นใคร มาจากไหน มีโปรไฟล์อย่างใด โดยข้อมูลบิ๊กดาต้าของลูกค้าทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ที่ผู้ให้บริการแอพสั่งอาหารเดลิเวอรี่
เพราะร้านอาหารจะรู้จักเพียงพนักงานเดลิเวอรี่ที่เดินเข้ามารับออเดอร์ในร้านเท่านั้น และได้สูญเสียความสามารถที่จะติดต่อโดยตรงกับลูกค้าที่ปลายทาง
ล่าสุด รัฐแคลิฟอร์เนียแห่งสหรัฐ ได้มีความพยายามที่จะออกกฎหมายอาหารเดลิเวอรี่ที่เป็นธรรม (Fair Food Delivery Act) หนึ่งในเงื่อนไขนั้น บังคับให้แอพต้อง 1.ขออนุญาตร้านอาหารก่อนการให้บริการเดลิเวอรี่ และ 2.ส่งต่อข้อมูลของลูกค้าให้กับร้านอาหาร เช่น ชื่อ ที่อยู่ และอีเมล์
ไม่เพียงเท่านั้นโรดไอแลนด์ซึ่งเป็นอีกรัฐหนึ่งในสหรัฐ ก็มีความพยายามที่ออกกฎหมายที่คล้ายกันในอีกไม่ช้านี้
อย่างไรก็ดี เรื่องราวดังกล่าวยังไม่ได้เกิดเป็นข้อถกเถียงในประเทศไทย แต่ก็เป็นสิ่งที่สมควรติดตามว่า การดิสรัปพฤติกรรมการบริโภคอาหารในยุคดิจิทัล จะวิวัฒนาการต่อไปในรูปแบบอย่างไร