โรคไมเกรน สัญญาณอันตรายที่ต้องรักษามากกว่ายาแก้ปวด

โรคไมเกรน สัญญาณอันตรายที่ต้องรักษามากกว่ายาแก้ปวด

“โรคไมเกรน” เป็นโรคปวดศรีษะชนิดหนึ่งที่พบบ่อย ส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและทางเลือกที่ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่เลือกใช้ คือการรับประทานยาเพื่อระงับอาการปวด แต่ด้วยไมเกรนมีความแตกต่างจากปวดหัวทั่วไป การซื้อยาทานเอง อาจไม่ช่วยให้ดีขึ้น

นายแพทย์สุรศักดิ์ โกมลจันทร์ อายุรแพทย์ด้านโรคระบบประสาท สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคไมเกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรมที่คนในครอบครัวมีประวัติ และเกิดจากส่วนของสมองและก้านสมองไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัว ฮอร์โมนเปลี่ยน ความเครียด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มักพบผู้ป่วยโรคไมเกรนในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุระหว่าง 20-40 ปี และอาจมีถึง 10 ล้านคน

"โดยส่วนมากเป็นคนวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวันมากที่สุด อาการปวดของไมเกรนสามารถปวดได้ทั้งปวดหัวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และการปวดเป็นได้ทั้งปวดตุบ ๆ หรือปวดจี๊ด ๆ ปวดตึง ที่ขมับข้างเดียวหรือสองข้าง หรือปวดตรงช่วงท้ายทอยก็ได้ และในรายที่ปวดมาก มักจะมีอาการข้างเคียงร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ ไวต่อแสง เสียง รวมทั้งความไวต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย และแรงกระแทก ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น

โรคปวดศีรษะไมเกรน สามารถแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะ (Migraine without aura) 2.กลุ่มที่มีอาการนำมาก่อน (Migraine with aura) กลุ่มนี้อาการนำที่พบบ่อย คือ เห็นมีแสงขาวเป็นเส้นหยักๆ หรืออาจจะเห็นเป็นแบบอื่นก็ได้ ก่อนจะตามมาด้วยอาการปวดศีรษะ อาการต่างๆของโรคไมเกรนจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งกระตุ้นคือ ความเครียด ฮอร์โมนและอารมณ์ในร่างกาย การอดนอนเป็นเวลานาน การรับประทานอาหาร สิ่งแวดล้อม การใช้ยา กลิ่นน้ำหอม กลิ่นบุหรี่ รวมไปถึงผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างการมีประจำเดือนเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจทำให้เกิดเป็นไมเกรนได้

158238132314

 

อย่างไรก็ตาม โรคไมเกรนในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาวะทางร่างกาย และปัจจัยแวดล้อมที่เป็นสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการไมเกรน ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการรักษา และที่แนะนำคือหากมีอาการของไมเกรนอยู่บ่อยครั้ง และรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการและการรับยาที่เหมาะสมและตรงกับอาการ

นายแพทย์สุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบประสาทและสมอง ผมค่อนข้างมีความกังวลในเรื่องที่ผู้ป่วยซื้อยารักษาตนเอง ซึ่งถ้าใช้บ่อย ๆ โดยไม่พบแพทย์เพื่อรักษาอาการที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาบ่อย และอาจจะทำให้การรักษาไมเกรนไม่ได้ผลด้วยเลยก็ได้ อาการปวดศีรษะที่เป็นบ่อยๆควรพบเเพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะอาการปวดศรีษะสามารถเกิดได้จากหลาย ๆ โรค การได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง จะช่วยให้การรักษาได้ตรงจุดที่สุด ผู้ป่วยควรสังเกตุความถี่ในการปวดแต่ละเดือน ระยะเวลาปวด ตำแหน่งที่ปวด สิ่งกระตุ้นที่ทำให้ปวด ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้จะเป็นการช่วยกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยทั้งในการวินิจฉัยและดูแลรักษา

 

สำหรับการรักษาด้วยการใช้ยาในโรคไมเกรน สามารถแบ่งยาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ใช้รักษาอาการปวดแบบเฉียบพลัน: จะใช้เฉพาะช่วงที่เกิดอาการปวดไมเกรนเท่านั้น ซึ่งวิธีการรับประทาน คือ ควรรับประทานทันทีที่เกิดอาการปวดไมเกรน และไม่ควรปล่อยให้เกินนานครึ่งชั่วโมงหลังเกิดอาการ เพราะจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง

2. กลุ่มยาสำหรับใช้ป้องกัน: การรับประทานยาประเภทนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งสามารถช่วยลดได้ถึง ร้อยละ 50 แต่อาจมีผลข้างเคียงในเรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ผมร่วง และการทำงานของสมองช้าลง

นอกเหนือจากการใช้ยารักษาอาการปวดไมเกรนแล้ว ยังมีนวัตกรรมเทคนิคการรักษาอื่น ๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ เช่น ยากลุ่มชีวโมเลกุลที่ฉีดเพียงเดือนละครั้งซึ่งเป็นกลุ่มยาสำหรับใช้ป้องกัน ที่คลินิกโรคปวดศีรษะผู้ป่วยไมเกรนจะได้รับการวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดตามอาการและปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกันไป นอกจากการตรวจรักษาและจ่ายยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว ทางคลินิกโรคปวดศีรษะยังมีทีมงาน เช่น พยาบาล ที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่มารักษาด้วยอาการปวดหัวที่อาจจะไม่ได้เป็นอาการของไมเกรนเสมอไป ในอนาคตทีมเราอาจจะมีเภสัชกร นักจิตวิทยา มาร่วมกันในทีมอีกด้วย

 

เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีการักษาผู้ป่วยโรคไมเกรน ที่ในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากกว่าแต่ก่อน ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยยาที่มีความแม่นยำกับอาการและลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ นวัตกรรมด้านยารักษาไมเกรนในประเทศไทยที่เป็นยากลุ่มใหม่สามารถใช้รักษาอาการได้ดี ช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ดีกว่ายากลุ่มเดิม ที่สำคัญคือลดการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้อีกด้วย"

"ซึ่งยากลุ่มใหม่ที่เป็นยาฉีดนี้มีข้อดีสำหรับผู้ป่วยคือไม่ต้องรับยาบ่อย ๆ เพียงฉีดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ด้วยราคาที่สูงจึงอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายในขณะนี้ ส่วนนวัตกรรมนอกเหนือจากนี้ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยในต่างประเทศที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยในแถบตะวันตกได้ดี ซึ่งในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการศึกษาเพิ่มเติม นายแพทย์สุรศักดิ์ กล่าวสรุป