เมื่อเผชิญเหตุ 'ไฟไหม้' ต้องรู้ 10 วิธีเอาตัวรอดให้ปลอดภัย!
ปี 2563 พบเหตุ "ไฟไหม้" เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ทั้งไฟไหม้ป่าและไฟไหม้บ้านเรือนในชุมชน จึงควรตระหนักรู้ว่า "ไฟไหม้" อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด! และควรเรียนรู้วิธีป้องกันและการเอาตัวรอดในเหตุไฟไหม้จากผู้เชี่ยวชาญ
สถานการณ์ "ไฟไหม้" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่ผู้ประสบเหตุนั้นไม่ทันได้ตั้งตัว ที่ผ่านมาโดยเฉพาะต้นปี 2563 เชื่อว่าคนไทยได้เห็นข่าวคราวเหตุการณ์ "ไฟไหม้" อยู่บ่อยครั้ง ไล่เรียงมาตั้งแต่เหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนคลองขวาง พระราม3, ไฟไหม้ตลาดท่าม่วง, ไฟไหม้ภุกระดึง, ไฟไหม้โรงงานไฟฟ้า กาฬสินธุ์, ไฟไหม้ตราด, ไฟไหม้ปางสีดา เขาใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ก็เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินหรือผืนป่ามากน้อยต่างกันไป
แล้วรู้หรือไม่? สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเมื่อเกิดเหตุ "ไฟไหม้" ไม่ใช่เปลวเพลิงที่ลุกโชน แต่เป็น "ควันไฟ" ที่ทำให้คนส่วนใหญ่สำลักจนหายใจไม่ออก หรือในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตก่อนที่เปลวเพลิงจะคืบคลานมาถึงตัวเสียอีก ทั้งนี้ ถ้าเรามีความรู้ในการป้องกันและเอาตัวรอดในสถานการณ์ไฟไหม้ได้อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย
- 10 วิธีเอาตัวรอดจากเหตุ "ไฟไหม้"
เมื่อเหตุ "ไฟไหม้" อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด! จึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุ "ไฟไหม้" ขึ้นว่าคุณต้องทำอย่างไรบ้าง? ก่อนอื่นต้องบอกว่าหากเหตุผิดปกติใดๆ ขึ้นมา คนเราจะมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ "ไฟไหม้" ฉับพลันขึ้นสิ่งแรกที่คนเราจะทำคือ ช่วยเหลือตัวเองให้รอดปลอดภัยและออกจากสถานที่เสี่ยงภัยให้เร็วที่สุด ซึ่งบางคนก็อาาจะยังไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แนะนำวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย เอาไว้ดังนี้
1. ตั้งสติให้ดี
อย่างแรกคือต้องตั้งสติก่อน ไม่ตื่นตระหนก และประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน และอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน หากเหตุไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นในบ้านเรือนของตน ให้ไปต่อที่ข้อ 3 ทันที
2. กดสัญญาณเตือนภัย
หากเป็นเหตุไฟไหม้ที่อยู่ในสำนักงานหรือออฟฟิศที่ทำงาน ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งปุ่มกดเตือนภัยเอาไว้ หากพบว่ามีประกายไฟหรือเกิดควันที่ทำให้แน่ใจว่าเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่แน่ๆ ควรตะโกนบอกทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ทราบทั่วกัน แล้วให้รีบกดสัญญาณเตือนภัยทันที
3. โทรศัพท์แจ้ง 199
ในกรณีที่เกิดเหตุ “ไฟไหม้” ระดับรุนแรง และกินพื้นที่เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ในบ้านเรือน ในชุมชน หรือในสำนักงาน หลังจากกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้แล้ว ให้เตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์ 199 ทันที
4. ใช้ถังดับเพลิง
ในกรณีที่เกิดเหตุ “ไฟไหม้” เพียงเล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาควบคุมเพลิงในบางส่วนที่อาจหลงเหลืออยู่
5. ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก
ขั้นตอนนี้เป็นการเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เริ่มจากใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายที่อาจจะทำให้หมดสติและเสียชีวิต
6. อย่าเปิดประตูทันที
หากเกิดไฟไหม้ข้างนอกและติดอยู่ในห้อง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อนให้เปิดประตูออกไปช้าๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากสัมผัสผนังหรือลูกบิด พบว่า มีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง
มีวิธีการเอาตัวรอด คือ ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ พร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด
7. หมอบคลานต่ำ
ในกรณีที่ออกจากห้องมาได้แล้ว และเผชิญกับไฟไหม้ในตัวอาคาร ให้หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
8. ห้ามใช้ลิฟท์
ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้
แต่ให้ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย และไม่ควรไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิต
9. หากไฟไหม้เสื้อผ้าให้กลิ้งตัวกับพื้น
กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ อย่าวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น
10. ไม่หนีไปที่ห้องน้ำ
ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ ไม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้
นอกจากนี้ก็ไม่ควรเข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ และเมื่อออกมาได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดไฟไหม้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือไปเอาสิ่งของอะไรอีกเด็ดขาด ปลอยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะโครงสร้างอาคารอาจพังถล่มลงมาได้
- วิธีป้องกันเหตุ "ไฟไหม้" กันไว้ดีกว่าแก้
เหนือสิ่งอื่นใดเราไม่ควรประมาท ควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ "ไฟไหม้" ไว้ก่อนดีกว่าปล่อยให้เกิดไฟไหม้ขึ้นแล้วค่อยมาคิดแก้ไขปัญหาทีหลัง ทั้งนี้เราจึงได้นำความรู้ในเรื่องวิธีป้องกันเพลิงไหม้ มาแนะนำเพื่อจะได้ปฏิบัติตัวกันให้ถูกต้อง โดยมีวิธีดังนี้
1. หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย หากชำรุดให้รีบซ่อมแซม
2. เลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
3. ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดหลังเลิกใช้งานแล้วทุกครั้ง
4. หมั่นตรวจสอบเตาและถังก๊าซหุงต้ม ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ปิดวาล์วที่หัวถังทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
5. หน้าต่างที่ติดเหล็กดัด ต้องมีช่องทางออกฉุกเฉินที่เปิดได้อย่างน้อย 1 บาน ทุกห้อง
6. ควรติดตั้งถังดับเพลิงภายในบ้านในจุดที่เห็นเด่นชัด ปราศจากสิ่งกีดขวาง และคนในบ้านต้องใช้ถังดับเพลิงเป็นทุกคน
7. ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟ เพื่อช่วยป้องกันไฟฟ้ารั่วและอัคคีภัย
8. วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงไวไฟทุกชนิด ต้องเก็บให้ห่างจากความร้อนและเปลวไฟ
9. เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ เช่น ดับธูปเทียนให้สนิท
10. ควรติดเบอร์โทร 199 และเบอร์โทรศัพท์สถานีดับเพลิงในพื้นที่ไว้ในที่มองเห็นเด่นชัด
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการเอาชนะกับเหตุการณ์ไฟไหม้ก็คือ ต้องมีสติ! เพราะถ้าขาดสติต่อให้เรามีการเตรียมตัวรับมือดีแค่ไหน แต่พอเกิดเรื่องจริงๆ กลับสติหลุดจนไม่สามารถจัดการอะไรได้ ก็ทำให้ทุกอย่างอาจสูญเปล่าและเกิดความเสียหายได้ รวมถึงการระมัดระวัง ไม่ประมาทกับชีวิตและทรัพย์สิน ตรวจสอบความปลอดภัยในบ้านให้ดีว่ามีอะไรชำรุดหรือไม่ เพื่อจะไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง
-----------------------
อ้างอิง:
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)