เมียนมาพลิกโฉมตลาด 'ค้าปลีก-ส่ง'
“เมียนมา” ประกาศแผนพัฒนาตลาดอาคารสำนักงาน และย่านการค้าในนครย่างกุ้ง หนึ่งในเมกะโปรเจคที่รัฐบาลเมียนมาผลักดันให้เกิดขึ้น 2-3 ปีข้างหน้า และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมืองให้ดีขึ้น
กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า โครงการพัฒนาตลาดอาคารสำนักงาน และย่านการค้าในเมียนมาถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในนครย่างกุ้งให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย และสร้างสังคมสีเขียว เป็นต้นแบบเมืองอื่นๆ ของเมียนมา
โครงการดังกล่าว ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง (วายซีดีซี) ซึ่งกำลังวางแผนเพื่ออนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมบริหารจัดการในรูปแบบ “องค์การตลาด” เพื่อสร้างความแตกต่างจากเดิมที่ดำเนินงานโดยรัฐ หรือระบบจัดการโดยพ่อค้าแม่ค้าร่วมกันดูแล
กริช ฉายภาพบรรยากาศการค้าปลีกค้าส่งตลาดในนครย่างกุ้งว่า ปัจจุบันตลาดในนครย่างกุ้งที่วายซีดีซีดูแลอยู่ มีอยู่ 183 แห่ง ซึ่งคนไทยมักรู้จักคุ้นเคยดีกับตลาดใหญ่ๆ อย่างตลาดโบโชคอองซาน หรือตลาดสก๊อต ตลาดตยีนกง ตลาดตีรี่มิงกลา ตลาดเตงจี ตลาดไชน่าทาวน์ โดยวายซีดีซีต้องการปรับปรุงภาพลักษณ์ และจัดระเบียบร้านค้าในตลาด 21 แห่ง รวมมีมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้มีความสะอาด สะดวกสบาย และทันสมัยรับกับไลฟ์สไตล์คนเมียนมามากขึ้น
แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในนครย่างกุ้งกำลังเติบโตอย่างมาก เดิมมีอยู่ไม่ถึง 200 แห่ง แต่ขณะนี้ผุดขึ้นราวดอกเห็ดประมาณ 1,400 แห่งทั่วย่างกุ้ง
“เดิมตลาดเหล่านี้ บริหารจัดการกันเองโดยพ่อค้าแม่ค้า และร้านค้าส่วนใหญ่มักจะปิดก่อนหกโมงเย็น ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมียนมาที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะหนุ่มสาวออฟฟิศเลิกงานดึกขึ้น ขณะที่ร้านค้าบางแห่งที่ต้องการขายของต่อ ก็ต้องนำสินค้าไปวางขายบนทางเท้า ส่งผลเกิดภาพความไม่เป็นระเบียบ จึงนำไปสู่แผนยกเครื่องครั้งใหญ่ ในการพัฒนาและปรับปรุงตลาดในนครย่างกุ้ง” ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในนครย่างกุ้งกำลังเติบโตอย่างมาก เดิมมีอยู่ไม่ถึง 200 แห่ง แต่ขณะนี้ผุดขึ้นราวดอกเห็ดประมาณ 1,400 แห่งทั่วย่างกุ้ง จึงจำเป็นต้องพัฒนาตลาดให้สามารถแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าได้ หากนักธุรกิจไทยสนใจจะเข้าไปลงทุน ก็ต้องมองให้เป็นเรื่องท้าทายและไม่ควรกังวลว่า ถ้าเข้าไปลงทุนปรับปรุงตลาด และนำสินค้าไปวางขายในร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแล้วจะขายได้หรือไม่ เพราะพ่อค้าแม่ค้ายังเป็นคนกลุ่มเดิม และปัจจุบันคนเมียนมามีกำลังซื้อสูงขึ้น แถมยังนิยมสินค้าไทยไม่เปลี่ยนแปลง
ด้าน เมียว วิน ผู้อำนวยการบริษัทด้านกฎหมายของเมียนมา ชี้ว่า นักธุรกิจไทยที่สนใจไปลงทุนร่วมโครงการพัฒนาตลาดอาคารและย่านการค้าในเมียนมา จะต้องศึกษากฎหมายการลงทุนเมียนมาให้ชัดเจน อาทิ กฎหมายจัดตั้งบริษัท กฎหมายแรงงาน และทรัพย์สินทางปัญหา รวมทั้งต้องปฏิบัติตามระเบียบการลงทุนให้ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันสามารถจดทะเบียนบริษัทในเมียนมาได้ทางออนไลน์และชำระเงินผ่านบัตรเครดิต สามารถทราบผลภายใน 15 วัน ขณะที่การยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจและการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (เอ็มไอซี) ทราบผลได้ภายใน 60 วัน
เมียน วิน ได้แนะนำเทคนิคการยื่นแผนประกอบการลงทุนในเมียนมาต่อเอ็มไอซีแล้วประสบผลสำเร็จว่า จะต้องตอบโจทย์กับแนวนโยบายการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลเมียนมากำลังให้ความสำคัญกับการสร้าง “สังคมและเศรษฐกิจสีเขียว” ที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ควบคู่กับจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษ และกระทบความเป็นอยู่ประชาชน