JAS ยึดแชมป์ปันผลเด่น โบรกชี้อนาคตส่อ ‘ซึมยาว’
ช่วงตลาดหุ้นตกหนักๆ เช่นนี้ หนึ่งในคำแนะนำที่มักจะได้ยินกันหนาหูคือ ‘หาหุ้นดี ปันผลสูง’ คำว่า ‘หุ้นดี’ ในนิยามของแต่ละคนก็คงจะต่างกันออกไป บางคนชอบเติบโตเร็ว บางคนชอบเติบโตคงที่ หรือบางคนอาจจะชอบหุ้นเทิร์นอะราวด์
แต่สำหรับหุ้นปันผลสูง เราอาจจะยังพอประเมินได้จากตัวเลขที่แสดงให้เห็น ณ ช่วงเวลานั้นๆ ว่าหุ้นที่เราสนใจมีอัตราเงินปันผลอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ และหากเทียบกับอุตสาหกรรมแล้วสูงกว่าหรือน้อยกว่าอย่างไร
สำหรับอัตราเงินปันผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2559 – 2562 พบว่าอยู่ในช่วง 2.7 – 3.22% ซึ่งเป็นอัตราเงินปันผลคำนวณจากผลรวมของเงินปันผลทั้งปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่รวบรวมในครั้งนี้ เป็นอัตราเงินปันผลของหุ้นจากผลประกอบการของปี 2562 ซึ่งจะจ่ายในช่วง 1 – 3 เดือนถัดจากนี้ โดยบางบริษัทอาจจะจ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง หรืออาจจะมากกว่า 1 ครั้ง
ทั้งนี้ หุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูงสุดในกลุ่ม SET100 อิงจากราคาหุ้น ณ วันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา คือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ในระดับ 30.99% ด้วยเงินปันผล 1.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งบริษัทชี้แจงว่าเป็นการจ่ายจาก 80% ของกำไรสุทธิปี 2562 ของงบการเงินเฉพาะกิจการ จำนวนรวม 1.54 หมื่นล้านบาท
ส่วนหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูงรองลงมา ได้แก่ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือ TISCO ซึ่งประกาศจ่ายปันผล 7.75 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 7.87% ถัดมาคือ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง หรือ PSH ประกาศจ่ายปันผล 0.95 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 6.64% ส่วน บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP ประกาศจ่ายปันผล 0.40 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 6.56%
โดยภาพรวมแล้ว หุ้นในกลุ่ม SET100 ที่ประกาศจ่ายปันผลในงวดนี้ และมีอัตราเงินปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดในช่วงที่ผ่านมา มีอยู่ทั้งสิ้น 25 บริษัท
ขณะเดียวกัน จากการรวบรวมสถิติในช่วงนี้ พบว่ามีหุ้นในกลุ่ม SET100 จำนวน 24 บริษัท ที่ราคาปรับตัวลดลงมาซื้อขายด้วย P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า หรือซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยหุ้นที่มี P/BV ต่ำสุด 3 อันดับแรก คือ บมจ.บ้านปู หรือ BANPU ที่ 0.5 เท่า บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ที่ 0.54 เท่า และบมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ที่ 0.54 เท่า
พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.กสิกรไทย ระบุว่า JAS ประกาศชำระเงินคืนผู้ถือหุ้นจำนวน 1.23 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบของเงินปันผล หากไม่รวมการแปลง JAS-W3 เงินปันผลต่อหุ้น (DPS) ของ JAS จะสูงถึง 1.50 บาท หรือสูงกว่าคาด 6% โดยจะขึ้นเครื่องหมายหมดสิทธิ์รับเงินปันผล (XD) วันที่ 20 เม.ย. 2563
ทั้งนี้ แม้ว่าฐานสมาชิกบรอดแบรนด์คงที่ (FBB) ของ JAS โตขึ้น 8% เป็น 3.18 ล้านราย ในไตรมาส 4/2562 จากที่ปกติจำนวนสมาชิกใหม่สุทธิในไตรมาส 4 ของ JAS จะติดลบ เนื่องจากการปรับตัวเลขสมาชิกคงค้างชำระ อย่างไรก็ตาม รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ที่แท้จริงในไตรมาส 4/2562 นั้นปรับลดลง 4% เป็น 460 บาท เพราะการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ การเข้ามาของ 5G ที่อาจจะทดแทนอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ เป็นความเสี่ยงสำคัญของ JAS เช่นกัน ปรับลดราคาเป้าหมาย ปี 2563 ของ JAS ลง 18% จาก 6.70 บาท เป็น 5.50 บาท โดยคาดกำไรสุทธิปีนี้ที่ 444 ล้านบาท ส่วนปี 2564 และ 2565 คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 765 ล้านบาท และ 761 ล้านบาท ตามลำดับ
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วหุ้นปันผลสูงมักจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วง 4 เดือนแรกของทุกต้นปี แต่ด้วยปัจจัยลบที่เข้ามาในปีนี้ ทำให้ผลตอบแทนของกลุ่มหุ้นปันผลสูง โดยเฉพาะในเดือน ม.ค. ให้ผลตอบแทนเป็นลบเช่นกัน แต่การปรับตัวของหุ้นปันผลสูงในช่วงตั้งแต่เดือน ก.พ. เริ่มจะทำได้ดีกว่าดัชนี SET
อย่างไรก็ตาม จากสถิติที่ผ่านมาชี้ว่านักลงทุนควรจะขายทำกำไรหุ้นปันผลก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย XD คือขายในช่วงปลายเดือน เม.ย. เพราะหลังจากขึ้น XD แล้ว หุ้นปันผลของไทยมักจะมีราคาลดลงแรงกว่าปันผลที่จ่ายออกมา
“การเลือกหุ้นปันผลในช่วงนี้ ควรจะมีอัตราปันผลไม่ต่ำกว่า 4% เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน แต่ตัวเลขอัตราเงินปันผลที่เห็นนั้น ไม่ได้การันตีว่าจะได้ผลตอบแทนเท่านั้นแน่ๆ เพราะหุ้นทุกตัวยังมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด”
สำหรับกลุ่มหุ้นที่ปันผลสูงและน่าจะแข็งแกร่งกว่าตลาดในช่วงนี้ ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร อย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจำกัดจากทั้งสถานการณ์โรคระบาดและภัยแล้ง อีกกลุ่มคือธุรกิจน้ำมัน อย่าง บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ซึ่งเริ่มฟื้นตัวได้แรง โดยมีปัจจัยหนุนคือโอกาสในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคลงอีก ทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับขึ้นได้