'เศรษฐกิจปี 63' ขับเคลื่อนบนความ 'ไม่เชื่อมั่น'
วิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดและยิ่งรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2563 โดยรวมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซ่ำเติมด้วยผลสำรวจที่ชี้ว่าไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยความไม่เชื่อมั้่นของผู้บริโภค
วิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดและยิ่งรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากความหวาดกลัวโรคร้ายที่ยังไร้ยารักษานี้ส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการบริโภคในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่าน ซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อ ที่ทำหน้าที่เหมือนชีพจรวัดอัตราเต้นทางเศรษฐกิจว่ายังดีอยู่หรือไม่
พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือ เงินเฟ้อเดือนก.พ.2562 เท่ากับ 102.70 สูงขึ้น 0.74 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YOY) แต่ลดลง 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2563 ที่ผ่านมา หรือ MOM และ เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) สูงขึ้น 0.89% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ AOA
ทั้งนี้ขอยืนยันว่า สินค้าในประเทศมีเพียงพอไม่ขาดแคลน ประชาชนไม่ต้องกังวลจนต้องกักตุนสินค้า ส่วนของที่ขาดตลาดทั้งเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ ยาฆ่าเชื้อและสบู่ มีการมาขอจดทะเบียนการจัดตั้งบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 20 แห่ง และพร้อมที่จะผลิตสินค้าให้มากขึ้นเนื่องจาก ใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตสินค้าเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีเงินเฟ้อจะออกมากต่ำ แต่ในความรู้สึกประชาชนกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เนื่องจากเงินเฟ้อหมายถึงค่าของเงินในกระเป๋าเราลดลงค่าลงไปสัดส่วนเท่าใด เมื่อเงินเฟ้อมีสัดส่วนเพิ่มไม่มาก ก็เท่ากับว่า เงินในกระเป๋ามีค่ามากแต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่
โดยการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน จัดทำโดย สนค. สำรวจผู้บริโภคจำนวน 8,330 คนทั่วประเทศพบว่า 70% ตอบว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่ 16.7% ตอบว่า ปกติ และ 13.3% ตอบว่า ต่ำ ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ค่าครองชีพประชาชนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง
การสำรวจเดียวกันนี้ได้สอบถามข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนก.พ.2563 พบว่าทุกรายการปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ 43.1 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. 2562 ซึ่งอยู่ที่ 51.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบัน เท่ากับ 38.2 ลดลงจาก 43.3 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต เท่ากับ 46.4 ลดลงจาก 57.0
สาเหตุหลักคาดว่าน่าจะมาจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อ สถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ซึ่งส่งผล โดยตรงต่อสุขภาพ ความปลอดภัย พฤติกรรมการบริโภค และวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งยังกระทบต่อ เศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง ทั้งในภาคการท่องเที่ยว ภาคการขนส่ง ภาคการค้าและการบริการ ภาคการผลิตและ การลงทุนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและ ภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ ดังกล่าว และมีมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ อย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบในด้าน ต่างๆ ลงได้ในระดับหนึ่ง และหากสถานการณ์สามารถ คลี่คลายลงได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็น่าจะช่วยให้ความ เชื่อมั่นผู้บริโภคและสถานการณ์เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
พฤติกรรมการใช้จ่ายที่จะจ่ายเมื่อมั่นใจและปัญหาโควิด -19 คือตัวบั่นทอนความมั่นใจทำให้เงินเฟ้อไม่ขยายตัวเท่าที่ควรซึ่งจะสะท้อนกลับไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ เพราะภายใต้คาดการณ์เงินเฟ้อก็อ้างอิงถึง อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ อยู่ที่ 2.7-3.7% หากปล่อยให้เงินเฟ้อต่ำไปเรื่อยๆจีดีพีประเทศก็น่าเป็นห่วงตามไปด้วยและเมื่อถึงเวลานั้น เงินในกระเป๋าก็จะน้อยด้อยค่าลงไปจริงๆไม่ใช่แค่ความรู้สึกว่า “ไม่เชื่อมั่น”อีกต่อไป