ภาพ “กอด” ที่ทำให้ “มาเรียม” พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบง จ.ตรัง เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ และจุดกระแสการอนุรักษ์พะยูน และทรัพยากรธรรมชาติ ได้กลับมาสร้างความภูมิใจให้กับประเทศไทยอีกครั้ง
หลังจากที่เพิ่งคว้ารางวัลภาพยอดเยี่ยมจากงาน POY77 งานประกวดภาพถ่ายของช่างภาพอาชีพและสื่อมวลชน ของ reynolds journalism institute ซึ่งจัดติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 77 แล้ว
โดย ปีนี้ ชิน - ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสายอนุรักษ์ เป็นทีมอาสาสมัครถ่ายภาพ มาเรียม ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ส่งภาพ “กอด” หรือ “MARIUM THE MERMAID” ภาพ มาเรียม ลูกพะยูนกำพร้ากำลังอยู่ในอ้อมกอดของทีมงานจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระหว่างฟื้นฟูสภาพร่างกาย และปรับทักษะการใช้ชีวิตที่ บริเวณ อ่าวดูหยง เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อ วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 จนสามารถคว้ารางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยมในสาขาวิทยาศาสตร์ และธรรมชาติมาครองในที่สุด
"ผมอยากให้มาเรียมเป็นเหมือนประตูไปสู่การเห็นความสำคัญของงานอนุรักษ์ในมิติอื่นๆ ด้วย"
เขาเล่าถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความตั้งใจในการนำเสนอความน่ารักของ พะยูนน้อย คือ สถานการณ์ของประชากรพะยูนที่มีเหลืออยู่ไม่เกิน 300 ตัวในประเทศไทยซึ่งยังอยู่ในความเสี่ยง และประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่สังคมควรตระหนัก
ภาพ : หาญนเรศ หริพ่าย, ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ศิรชัย ใช้เวลาขลุกอยู่กับทีมทำงาน 3 วันเพื่อถ่ายทอดกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดออกมาเป็นภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว ดังที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ ในช่วงนั้น
"ผมวางโจทย์เอาไว้ว่าอยากถ่ายทอดความหวัง และทำให้คนเห็นความสำคัญ บทบาทของคนในงานอนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งมาเรียมถือเป็นสัญลัษณ์ของทะเลที่ชัดเจนในมุมนั้น"
เบื้องหลังภาพนี้ เขาบอกว่า ต้องถ่ายภาพวันละ 1,000 ภาพ เพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ที่สุด
“อย่างเฉพาะภาพกอดภาพเดียวก็กดไป 40 ภาพแล้ว เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างมาในการทำงาน ทั้งการเคลื่อนไหวของคลื่นน้ำ ทรงคลื่น ความขุ่นของตะกอน ซึ่งในการทำงานน้ำขุ่นมาก ระยะถ่ายเหลืออยู่แค่ 15 - 50 เซ็นติเมตรเท่านั้น จะเห็นว่าภาพนอกจากโดรนแล้ว ไม่มีภาพมุมกว้างเลย"
ภาพ "กอด" หรือ “MARIUM THE MERMAID” โดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ในการทำงานเขายอมรับว่า ต้องคอยระวังมาก ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เกะกะทีมงาน ถ่ายแบบไหนถึงจะได้มองเห็นความหลากหลาย
“ที่สำคัญมาเรียมค่อนข้างติดทีมดูแลมาก เวลาอยากจะเล่นอยากจะคลอเคลียก็มาเลยว่ายมาชนขาผมตอนกำลังถ่ายก็เคย"
ในภาพชุดนั้น ชิน ยอมรับว่า ที่สุดของภาพมาเรียมสำหรับตัวเขาก็คือ ภาพ “กอด”
"สำหรับผมคือภาพกอดครับ จริงๆ ทุกครั้งในการทำงานมันจะมีจังหวะ และความเหมาะเจาะของภาพอยู่ คือ ทีแรกที่ดีไซน์ไว้ผมเห็นว่ามาเรียมค่อนข้างติดอาสาสมัครคนนึงมาก ก็คิดไว้ว่าอยากได้ภาพระหว่างคนกับพะยูนในน้ำโดยมีแนวป่าอยู่ในภาพ ซึ่งมันบอกเล่าหลายอย่าง และคิดว่าน่าจะสื่ออะไรให้คนรู้สึกได้"
เขาหมายถึงความเสี่ยงของทรัพยากรทางทะเลของไทย ทั้งเครื่องมือประมง หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน และแหล่งอนุบาสลสัตว์น้ำวัยอ่อน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ล้นเกินจนส่งผลกระทบสกับสัตว์ทะเลหายาก ขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งมันมีอะไรอีกมากมายอยู่หลังความน่ารักของมาเรียมที่อยากให้มองให้ยาว และลึกกว่านั้น โดยเฉพาะนักวิจัย อาสาสมัคร ชุมชน ที่มีต้นทุน และไม่ควรถูกมองข้าม"