‘กอดคลายทุกข์’ บริการใหม่อินโดนีเซีย
หลายครั้งในชีวิตที่อะไรๆ ไม่เป็นไปดังที่ใจคิด และคุณต้องการใครสักคนมารับฟังปัญหาพร้อมกอดเบาๆ ที่อินโดนีเซีย จึงมีคนที่ผุดไอเดียบริการแนวใหม่ แต่อบอุ่นที่เรียกว่า "กอดคลายทุกข์"
อัคบาร์ ซาห์บานา ชายอินโดนีเซีย วัย 23 ปี เชื่อว่า ชีวิตทุกคนต้องการใครสักคนมารับฟังปัญหาพร้อมกอดเบาๆ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวยินดีรับฟังความทุกข์โศก เพื่อแก้ไขปัญหานี้เขาจึงตั้ง “อินโดคัดเดิล” บริการผู้ฟังที่ไว้ใจได้แถมกอดปลอบใจให้ด้วย
“ผมเป็นเด็กบ้านแตก แม่กับพ่อเลิกกันตั้งแต่ผมอยู่ชั้นประถม มีหลายช่วงที่ผมอยากเจอพ่อมาก อยากคุยกับท่านแล้วให้ท่านกอด แต่ผมไม่เคยเจอพ่ออีกเลยตั้งแต่เรียนชั้น ป.3 หรือ ป.4” ซาห์บานาเผยกับเว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชีย
จากประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ศูนย์การศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษในซิการัง ชานกรุงจาการ์ตา ซาห์บานาจึงตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิต การจัดการอารมณ์ และการยอมรับของผู้ปกครอง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งอินโดคัดเดิล ที่มีกำหนดเปิดตัวในเดือน เม.ย.นี้ โดยเฉพาะหลังจากที่เขาอ่านพบว่า สหรัฐก็มีบริการแบบเดียวกัน
ซาห์บานาระบุว่า อินโดคัดเดิลเหมาะสำหรับทุกคนที่มีอายุ 3 ขวบขึ้นไปและอาศัยอยู่ในเขตมหานครจาการ์ตา ว่าที่ลูกค้าของเขาจึงมีทั้งผู้ใหญ่ที่เจอแรงกดดันจากการทำงาน เด็กที่พ่อแม่แยกทาง เด็กที่ตกเป็นเหยื่อถูกกลั่นแกล้ง เด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ คนชรา วัยรุ่นก้าวร้าว และคนที่มีปัญหาต้องการการปลอบใจ
ตอนนี้ซาห์บานากำลังขอใบอนุญาตทำธุรกิจ โดยยังไม่แน่ใจว่าจะได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ทันจะเปิดตัวแนวคิดนี้ก็ถูกพูดถึงในวงกว้าง ผู้เชี่ยวชาญถกกันถึงประสิทธิภาพของบริการ
อินโดคัดเดิลนำเสนอบริการ 2 แพ็กเกจ แพ็กเกจแรกลูกค้าระบายความรู้สึกอย่างเดียวไม่ต้องกอด แพ็กเกจที่ 2 ค่าบริการชั่วโมงละ 700,000 รูเปี๊ยะห์ (1,515 บาท) มีทั้งกอดและรับฟังปัญหา ลูกค้ากอดได้ไม่จำกัด ผู้ฟังจะได้รับการฝึกฝนวิธีการกอดแบบเฉพาะเจาะจง ที่ซาห์บานาไม่ยอมเผยรายละเอียด
นอกจากนี้ อินโดคัดเดิลกลายเป็นจุดสนใจ เมื่อยูทูเบอร์ชาติเดียวกันรายหนึ่งพูดถึงโฆษณารับสมัครงานของบริษัท ที่กำลังต้องการนักกอดมืออาชีพ อายุระหว่าง 18-45 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีด้านจิตวิทยา เป็นนักฟังที่ดี ยินดีทำงานนอกเวลา บุคลิกดี สุขภาพกายและจิตแข็งแรง สื่อสารได้ดีมีชีวิตชีวา และเป็นนักกอดที่อบอุ่น
คำโฆษณาดังกล่าว หลายคนตอบรับในทางบวก แต่บางคนก็เคลือบแคลง ออคตา ผู้สนใจทำสตาร์ทอัพรายหนึ่ง ยังไม่เชื่อสนิทใจ
“เท่าที่ดูผมว่ายังไม่แก้ปัญหา สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจรากเหง้าของมัน ที่อาจมาจากปัญหาทางใจก็ได้”
เช่นเดียวกับเออร์วาน พนักงานบริษัทที่กล่าวว่า ผู้คนมักมองหาความรักจากคนที่รู้จักดี บริการนี้น่าจะช่วยได้แค่ลดความเครียดชั่วคราว
นักจิตวิทยานาม “รัสติกา ทัมริน” กล่าวกับแชนเนลนิวส์เอเชียว่า การกอดพิสูจน์แล้วว่าได้ผลทางจิตวิทยาจริง แต่ต้องเป็นการกอดระหว่างคนที่รู้จักกัน กอดเด็ก และครอบครัว
“การกอดสามารถทำให้คนที่กำลังเครียดรู้สึกดีได้ อ้อมกอดอันอบอุ่นช่วยลดความเจ็บปวด ความเศร้า หรือความรู้สึกลบอื่นๆ” ทัมรินกล่าวและว่า มีงานวิจัยพบว่าการกอดช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้เด็ก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และแก้ไขอารมณ์เกรี้ยวกราด
ด้านเทวี รามาวตี นักวิจัยสังคมจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เห็นต่าง “การกอดในวัฒนธรรมเราเป็นเรื่องต้องห้าม เราแทบจะไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ดิฉันไม่ทราบว่าบริการกอดจะเหมาะกับวัฒนธรรมของเราหรือไม่”
ขณะที่รตี อิบราฮิม จิตแพทย์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการสมาคมจิตแพทย์อินโดนีเซีย เตือนว่า บริการนี้อาจถูกพวกใคร่เด็กหรือพวกคุกคามทางเพศนำไปใช้ในทางที่ผิด จนกลายเป็นปัญหาด้านความปลอดภัย
“ดิฉันกังวลเรื่องการให้บริการ ผู้คน และการควบคุมคุณภาพ ยังสงสัยอยู่ว่าคุณซาห์บานาจะได้ใบอนุญาตได้ยังไง”