2 วันรับ 'ผีน้อย' กลับจากเกาหลีใต้แล้ว 186 คน
สธ.เผยในไทยคนจากประเทศเสี่ยงป่วยเป็น COVID-19 เพียง 1% ย้ำยังไม่ป่วยไม่แพร่เชื้อ ขณะที่ 2 วันรับแรงงานจากเกาหลีใต้แล้ว 186 คน ลั่นสายการบินต้องจ่ายค่าตรวจหากปล่อยผู้โดยสารสงสัยเดินทาง
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 9 มีนาคม 2563 นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือโควิด-19(COVID-19) ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 50 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 8 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 4,518 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,729 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,789 ราย ป่วยโควิด-19 ราว 1%
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังกว่า 4,500 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโควิด-19เพียง 50 คน แปลว่าคนที่มาจากประเทศเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคทุกๆ 100 คน จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1 คนทั้งที่การจะเข้ามาเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคนั้นจะต้องมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือโรคระบบทางเดินหายใจแล้วด้วยซ้ำ แปลว่าไม่ใช่คนที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอที่มาจากประเทศเสี่ยงทุกคนจะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด จริงๆมีโอกาสเป็นคนป่วยแค่ประมาณ 1% เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัดตามฤดูกาล และติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าคนเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงไม่ได้เป็นโควิด-19ทุกคน โอกาสที่จะป่วยเป็นโควิด-19 ยังต่ำมาก และคนที่จะแพร่โรคก็คือคนที่มีอาการแล้ว
รับแรงงานแล้ว 186 คน
กรณีแรงงานนอกระบบที่ประเทศเกาหลีใต้มีการรับไว้สังเกตอาการที่ฐานทัพเรือสัตหีบตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ถึง ตี 2 ครึ่งของวันที่ 9 มีนาคม 2563 จำนวน 186 คน เป็นเพศชาย 88 คน เพศหญิง 98 คน ในจำนวนนี้มาจากเมืองแทกูและคยองซังเหนือ 8 คน และจาก 186 คนมีกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษเป็นเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 18 คน ทั้งนี้ กระบวนการคคัดกรองก่อนที่จะรับไว้สังเกตอาการนั้นเริ่มตั้งแต่ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยสถานทูตไทยได้ประสานรัฐบาลเกาหลีใต้ตรวจสอบเที่ยวบินแต่ละวันที่จะเดินทางมาประเทศไทย สายการบินตรวจสุขภาพผู้โดยสารและจัดโซนที่นั่งให้แรงงานนอกระบบไว้ท้ายเครื่อง ซึ่งเที่ยวบินที่มีแรงงานนอกระบบเข้ามานั้น ท่าอากาศยานจะจัดจุดจอดเฉพาะให้ จากนั้นตรวจวัดไข้เหมือนคนอื่นๆ แต่เมื่อถึงขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองจะถูกแยกในช่องทางพิเศษไปยังจุดคัดกรองเพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ที่รัฐจัดไว้เฝ้าระวังอาการ
ยังไม่ป่วยไม่แพร่เชื้อ
“คนที่ไม่ได้มีอาการป่วย จะไม่แพร่เชื้อ หากมีผู้ป่วยยืนยันการจะนับว่าใครเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะเริ่มเมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เพราะฉะนั้น ถามว่าคนที่สัมผัสคนกลับจากเกาหลีใต้จะต้องทำอะไรหรือไม่ ตอบว่าไม่ต้องทำอะไรเพราะคนที่กลับมายังไม่ป่วยจึงยังไม่แพร่โรคเลย ไม่ต้องกังวล ส่วนมาตรการรับแรงงานนอกระบบจากเกาหลีใต้ไว้สังเกตอาการจนครบ 14 วันนั้น ถือเพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับครอบครัวของแรงงานเอง ในกรณีที่แรงงานอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตัวที่ดีตามคำแนะนำ หากป่วยขึ้นคนที่เสี่ยงสูงก็จะเป็นคนในครอบครัว แต่การรับไว้ในที่ที่รัฐจัดไว้หากป่วยก็จะไม่มีใครเสี่ยงเพิ่มเติม เพราะทันทีที่มีอาการป่วยก็จะถูกนำตัวเข้าห้องแยกทันที” นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
4 ประเทศกักตัวเอง 14 วัน
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวถึงมาตรการหลังจากที่ประเทศไทยประกาศให้ 4 ประเทศเป็นเขตโรคติดต่ออันตรายได้แก่ จีน(รวมมาเก๊า ฮ่องกง) เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่านว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้น ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจะให้มีการลงทะเบียนเพื่อรายงานสภาวะสุขภาพทุกวันจนครบ 14 วัน และขอความร่วมมือให้มีการเฝ้าระวังหรือกักตัวเองเป็นเวลาจนครบ 14 วัน หากตรวจพบว่าไม่ให้ความร่วมมือก็จะดำเนินการนำตัวมาเข้าระบบบังคับกักตัว และหากมีการหลบหนีจะดำเนินการตามกฎหมาย
สายการบินจ่ายค่าตรวจ
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า จากที่สำนักงานการบินพลเรือนพลเรือนแห่งประเทศไทย มีคำสั่งให้สายการบินที่มาจาก 4 ประเทศและจะเดินทางเข้าประเทศไทยต้องตรวจสอบให้ผู้โดยสายที่จะเดินทางมีใบรับรองแพทย์มาแสดงก่อนอนุญาตให้เดินทางนั้น หากมาถึงประเทศไทยแล้วพบว่ามีผู้โดยสารคนใดเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค สายการบินที่ผู้โดยสารคนนั้นเดินทางมาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าตรวจ
ติดตาม 157 คนเสี่ยงสูง
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนผลการสอบสวนโรคของผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ที่เป็นนักศึกษาไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิหร่านมีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งบุคลากรทางการแพทย์ คนในครัวเรือน ยานพาหนะ และคนในชุมชน รวม 157 คน นำมาสังเกตอาการและตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์(ห้องแล็บ)ว่าติดเชื้อหรือไม่
กระจายยารักษาผู้ป่วยหนัก
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยได้มีการสั่งสำรองยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาแล้วกว่า 50,000 เม็ด ได้มีการกระจายให้ครอบคลุมหน่วยบริการที่สามารถดูแลผู้ป่วยวิกฤติหรือผู้ป่วยหนักได้ โดยกระจายให้สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค สถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และรวมถึงสถานพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ สังกัดกทม.และภาคเอกชน และกระจายให้เขตสุขภาพโดยสำรองไว้ที่โรงพยาบาลใหญ่ในการดูแลโรงพยาบาลเล็กในเครือข่ายให้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยที่คาดว่าจะต้องใช้ยาเฉพาะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งให้ผู้ที่เดินทางมาจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ที่สั่งให้บุคคลนั้นแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการตามมาตา 40(3) พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ