โบรกสั่งขายหุ้น 'พลังงาน' หวั่น 'สงครามน้ำมัน' กดดันราคารูดยาว
นักลงทุน ผวา “สงครามราคาน้ำมัน” กดดันราคาตลาดโลกดิ่งหนักกว่า 30% ฉุดหุ้นพลังงานร่วงแรง นำโดย 4 หุ้นหลัก “กลุ่มปตท.” ด้าน โบรกเกอร์ แนะตัดขาดทุนลดความเสี่ยง พร้อมเลี่ยงลงทุนหุ้นพลังงานในระยะสั้น
จากรายงานของ U.S. Energy Information Administration (EIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของสหรัฐคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ภาวะ Oversupply ของน้ำมันที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มเข้าสู่จุดสมดุลเมื่อปีก่อน
โดยตัวเลขในปี 2562 ของการผลิตน้ำมันทั่วโลกรวมกันอยู่ที่ 100.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับการบริโภคที่ 100.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบ (WTI) ทรงตัวอยู่ได้ในกรอบ 50 – 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลอดทั้งปี
แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้อุปสงค์ต่อน้ำมันลดลงไปอย่างมาก ทำให้เกิดการคาดหวังกันว่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อย่างกลุ่มโอเปค รวมถึงประเทศอย่างรัสเซีย และสหรัฐ อาจจะลดกำลังการผลิตลงเพื่อลดความรุนแรงของภาวะ Oversupply
สุดท้าย ผลลัพธ์จากการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่ออกมา นอกจากจะไม่เป็นไปตามคาดแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิด ‘สงครามราคาน้ำมัน’ ระหว่างประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อีกด้วย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงเกือบ 30% จากวันก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 4 ปี และรุนแรงที่สุดนับแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี 2533 – 2534
ตลาดหุ้นทั่วโลกเปิดสัปดาห์นี้ (9 มี.ค.) ด้วยการถูกนักลงทุนเทขายอย่างหนัก รวมถึงตลาดหุ้นไทย (SET) ซึ่งดัชนีเปิดกระโดดลงทันที 91.62 จุด หรือลดลง 6.7% หลังเปิดตลาดช่วงเช้า โดยหุ้นที่กดดัชนีลงมาก็หนีไม่พ้นบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน ไล่เรียงมาตั้งแต่ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และบมจ.ไทยออยล์ (TOP) ซึ่งราคาหุ้นแต่ละตัวต่างลดลงไป 20 - 30%
ไม่เว้นแม้แต่หนึ่งในบริษัทน้ำมันแถวหน้าของโลกอย่าง ซาอุดิ อารามโก ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ราคาดิ่งลงมาราว 20% ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในครั้งนี้เกิดจากการที่รัสเซียปฎิเสธข้อเสนอการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ซาอุดิอาระเบีย ผู้นำของกลุ่มโอเปค ประกาศเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากปัจจุบัน 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมปรับลดค่าพรีเมียมน้ำมันดิบทุกประเภท
บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การเจรจาที่ล้มเหลวดังกล่าว จะส่งผลทำให้สภาวะ Over Supply รุนแรงยิ่งขึ้น และคาดว่าราคาน้ำมันจะยืนในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มน้ำมัน โรงกลั่น รวมไปถึงปิโตรเคมี สำหรับวันนี้แนะนำให้ ‘ขายตัดขาดทุน (Cut Loss)’ หุ้น PTTEP ออกจากพอร์ต
ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งน้ำมันดิบขาลงนับเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจ แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับลดลงตาม ทำให้คาดการณ์ค่าการกลั่นยังอยู่ในกรอบแคบ และคาดธุรกิจโรงกลั่นมีโอกาสจะบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมันสูงขึ้น
โดยรวมฝ่ายวิจัยฯ คาดทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกยังผันผวนในทิศทางขาลง และคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีโอกาสต่ำกว่าสมมุติฐานที่ประเมินไว้ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ การศึกษา Sensitivity หากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงทุกๆ 5 ดอลลาร์ จะกดดันต่อประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาท กดดันเป้าหมายดัชนี SET ลดลง 16 จุด
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้เชื่อว่าในอนาคตทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จะหันหน้าเจรจาเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ในระหว่างการประชุมโอเปคครั้งถัดไป วันที่ 9 – 10 มิ.ย. 2563 แต่คาดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะรัสเซียอาจต้องการให้ผู้ผลิตน้ำมันเชลล์ในสหรัฐได้รับผลกระทบจากการเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงที่ผ่านมา
เราปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2563 จาก 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บนความคาดหวังว่าจะไม่เกิดสงครามราคาน้ำมัน สำหรับหุ้น PTTEP ที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด
เราประเมินว่าการลดลงของราคาน้ำมันทุกๆ 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะกดดันประมาณการกำไร 900 ล้านบาท และราคาเหมาะสมให้ลดลง 2.2 บาท แนะนำขาย ประเมินราคาเหมาะสม 91 บาท และแนะนำระมัดระวังหุ้น PTT ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ากำไรปี 2563 อาจลดลง 31% และให้ราคาเหมาะสม 33 – 36 บาท
ขณะที่หุ้นในกลุ่มโรงกลั่นมีโอกาสได้รับผลบวกจากค่าการกลั่น และส่วนต่างราคาปิโตรเคมีที่น่าจะสูงขึ้น แต่ในระยะสั้นผลบวกดังกล่าวจะไม่สามารถชดเชยผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันจำนวนมากที่อาจเกิดขึ้นได้ เชิงกลยุทธ์มองว่ายังไม่ใช่จังหวะเข้าลงทุน
ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิ่งลงแรงเช่นนี้ เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2557 โดยราคาปรับตัวลดลงจากระดับ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาแตะระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายปี 2559 ซึ่งในครั้งนั้นมีส่วนช่วยกดดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลงราว 360 จุด ไปแตะระดับต่ำสุดที่ 1,220 จุด
ส่วนหุ้นในกลุ่มน้ำมัน อย่าง PTT, PTTEP และ PTTGC ราคาลดลงเฉลี่ยถึง 50% โดย PTTEP ปรับตัวลดลงมากที่สุดประมาณ 75% รองลงมาคือ PTT ลดลงประมาณ 47% และ PTTGC ลดลง 32% ส่วนในรายของหุ้น TOP นั้น แม้ช่วงแรกที่ราคาน้ำมันปรับตัวลง ราคาหุ้นจะลดลง 20% แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นสามารถฟื้นกลับขึ้นไปได้และให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 24% ระหว่างช่วงเวลาเดียวกันนั้น
การดิ่งลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในรอบนี้ เป็นดั่งการซ้ำเติมตลาดหุ้นทั่วโลกให้แย่ลงไปอีก เพราะธุรกิจพลังงานยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของโลกและของไทย (23% ของมูลค่าตลาดรวม) แต่ในมุมกลับกันราคาน้ำมันที่ถูกลง ก็จะช่วยให้ต้นทุนของภาคธุรกิจลดลงตามไปด้วยในอนาคต
สำหรับภาพต่อจากนี้ ด้านหนึ่งคือ ฝั่งของอุปทาน ที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่จะยอมปล่อยให้เกิดสงครามราคาน้ำมันขึ้นหรือไม่ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ ฝั่งของอุปสงค์ ซึ่งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง