‘เซ็นเทล’ ยื้อโรงแรมสู้โควิด ชู ‘ฟู้ดดิลิเวอรี่’ โต2เท่า
การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นวายร้ายทำลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังโดนหนักเข้าขั้นสาหัส แม้แต่บิ๊กเนมอย่างเครือโรงแรม “เซ็นทารา” ในกลุ่มเซ็นทรัลยังไม่อาจหลบพ้น!
กันย์ ศรีสมพงษ์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายการเงินและบริหารสินทรัพย์บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็นเทล กล่าวว่า ปี2563ถือเป็นปีที่ยากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ตั้งแต่ต้นปี ทำให้เบื้องต้นคาดว่ารายได้ของเซ็นเทลปีนี้จะติดลบไม่น้อยกว่าอัตราการลดลงของรายได้เฉลี่ยห้องพัก (RevPAR)ที่15%เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภายใต้สมมติฐานว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ การลดลงของRevPARเป็นไปตามอัตราเข้าพัก (Occupancy)ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราตลอดเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาซึ่งลดลงเหลือ60%จากปกติที่ควรได้80-90%ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ADR)ของทั้งเครือ คาดลดลงไม่ถึง10%
“คาดการณ์ว่าตลอดปีนี้เครือเซ็นทาราจะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลง10%จากสถานการณ์แพร่ระบาดที่คาดว่าน่าจะจบลงกลางปี”
อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้จำลองซีนาริโอไว้3เหตุการณ์ด้วยกัน ว่าถ้าการแพร่ระบาดสิ้นสุดลงภายในเดือน เม.ย. หรือ มิ.ย. หรือ ก.ย.นี้ จะปรับลดต้นทุนอย่างไรให้เหมาะสม อย่างเช่นช่วงนี้ก็มีการลดจ้างงานเอาต์ซอร์สหรือพนักงานชั่วคราวเพื่อคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดของเสียจากอาหาร (Waste Food)ด้วยการเปลี่ยนมื้อบุฟเฟต์จากที่มีทุกวัน ให้ลูกค้าเลือกทานอาหารจานเดี่ยว (A la carte)ได้ไม่จำกัดแทน และปิดห้องอาหารบางห้องที่มีลูกค้าน้อยเป็นการชั่วคราว”
นอกจากนี้ ได้เร่งการปรับปรุงโรงแรมบางแห่งให้เร็วขึ้นในช่วงนี้ที่อัตราเข้าพักลดลงไปมาก เช่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ที่ได้ทยอยรีโนเวตไปแล้วเมื่อ ส.ค.2562ที่ผ่านมา เพื่อปรับเพิ่มราคาขายห้องพักได้มากขึ้น หลังจากเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาสามารถขายราคาห้องพักที่ผ่านการรีโนเวตได้เพิ่มขึ้นถึง30%
กันย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าบริษัทฯได้วางค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน (CAPEX)ในช่วง2ปีนี้ ตั้งแต่ปี2563-2564ไว้ที่18,000ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก่อสร้างโรงแรมใหม่และปรับปรุงโรงแรม12,000ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายธุรกิจอาหารอยู่ที่2,400ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนควบรวมและซื้อกิจการ(M&A)อีก2,300ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อสัมปทานเช่าที่ดินโรงแรมรถไฟหัวหิน (เซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน) และโครงการที่มีศักยภาพอื่นๆ
ขณะที่ปีนี้ บริษัทฯเตรียมเปิดให้บริการโรงแรมใหม่8แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม6แห่งที่รับบริหารในไทย สปป.ลาว เมียนมา กาตาร์ และตุรกี ด้านโรงแรมที่บริษัทฯลงทุนเองมี2แห่ง คือ1.โรงแรมเซ็นทารา เดร่า ดูไบ ขนาด607ห้องพัก จากการร่วมทุนในสัดส่วน40%และ2.โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ สมุย ซึ่งได้รีโนเวตและรีแบรนด์ใหม่เป็น เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย โดยแบรนด์ “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ” เป็นแบรนด์ลำดับที่6ภายใต้การบริหารงานของเครือเซ็นทารา สำหรับเจาะตลาดลักชัวรีสูงกว่า5ดาว
และเมื่อบริษัทฯต่อสัมปทานโรงแรมรถไฟหัวหิน ก็จะใช้แบรนด์นี้กับอีกแบรนด์คือ เซ็นทารา แกรนด์ รวมเป็น2แบรนด์ในโรงแรมเดียว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ให้เช่าอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
นันทวัน วัชรโกมลพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบัญชีและการเงิน เซ็นเทล บอกว่าปีนี้ “ธุรกิจอาหาร” จะเป็นตัวชูโรงกระตุ้นรายได้ให้บริษัทฯ ผ่านการรุกขายอาหารผ่านบริการ “ดิลิเวอรี่” มากขึ้น ตั้งเป้าสร้างการเติบโต2เท่า สามารถขยับฐานรายได้ส่วนเดลิเวอรี่จาก7%เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มเป็น10-15%ในปีนี้ หลังทำสถิติ “Hit New High” ทุกเดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีที่แล้วที่เริ่มเห็นการแข่งขันของบริการเดลิเวอรี่หลากหลายเจ้าซึ่งเข้ามาดิสรัปและสร้างโอกาสในการขายแก่ธุรกิจอาหาร ส่งผลดีต่อทุกแบรนด์ของบริษัทฯ ในการแข่งขันกับสตรีทฟู้ด
“ดิลิเวอรี่จะเป็น Main Theme ของธุรกิจอาหารของเซ็นเทลปีนี้ บริษัทฯจึงมีแผนขยายคลาวด์คิทเช่นในปีนี้และปีหน้า หนุนสร้างการเติบโตแบบดับเบิล ล้อแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต มาช่วยชดเชยรายได้จากการขายหน้าร้านในระดับหนึ่ง ทั้งนี้บริษัทฯเตรียมเปิด1-2แบรนด์ร้านอาหารใหม่อีกด้วย”