‘9 แบงก์ไทย’ ได้คะแนน 'การเงินที่เป็นธรรม' แค่ไหน !?
เปิดผลประเมินการเงินที่เป็นธรรม ปีที่ 2 พบ "9 ธนาคารไทย" รับผิดชอบมากขึ้น แต่ยังต้องปรับปรุงเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ และการพิจารณาค่าตอบแทนแก่พนักงาน
จากการเปิดเผย ผลการประเมินคะแนนการเงินที่เป็นธรรม 9 ธนาคารไทย โดย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ที่ได้ประเมินจากแนวนโยบายของแต่ละธนาคาร ตลอดปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โดยใช้ "แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ" (Fair Finance Guide International) มาเป็นเกณฑ์ประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของ 9 ธนาคารไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคิน เพื่อติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร ต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค มุ่งผลักดันการธนาคารที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
โดยการประเมินนี้ ทีมงานได้พิจารณาคะแนนจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องหัวข้อประเมิน มีทั้งสิ้น 12 หัวข้อ ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทุจริตคอร์รัปชัน ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ธรรมชาติ ภาษี ความเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าอาวุธ การคุ้มครองผู้บริโภค การขยายบริการทางการเงิน การตอบแทน และความโปร่งใสและความรับผิดชอบ
ผลการประเมินพบว่า ทั้ง 9 ธนาคารมีคะแนนโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น โดย TMB-KBank-SCB ขึ้นท็อปลิสต์การประเมินในปีนี้ พบว่าธนาคารทั้ง 9 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ย 21.31 คะแนน จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีแรก 5.1%
สำหรับ ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทย (22.6%) ธนาคารกสิกรไทย (20.7%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (20.3%) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (17.2%) และ ธนาคารกรุงเทพ (17.0%)
โดยในปีนี้ ธนาคารที่ทำอันดับได้ดีขึ้นมีสองแห่ง คือ TMB ที่ไต่จากอันดับ 9 มาสู่อันดับ 1 และ BBL ที่ขยับจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับ 5 ส่วนธนาคารสี่แห่งที่มีอันดับร่วงลงจากปีแรกได้แก่ SCB, TISCO, KTB และ KKP (เกียรตินาคิน) ขณะที่อีกสามแบงก์ที่เหลือ คือ KBank Krungsri และ TBANK (ธนชาต) ยังคงรักษาอันดับในการประเมินได้เท่าเดิมจากปีแรก (ดูผลคะแนนของแต่ละธนาคารที่ด้านล่างของบทความ)
- "สอบตก" ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
แม้ในภาพรวม ทุกธนาคารจะมีคะแนนที่เพิ่มมากขึ้น โดยสอบผ่านธุรกิจ แต่ยัง "สอบตก" ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเมื่อดูผลการประเมินรายหมวด ธนาคาร 9 แห่งโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกหมวด
หมวดที่ธนาคารได้คะแนนสูงสุด 3 หมวดแรก ยังคงเป็นหมวดเดียวกันกับผลการประเมินนโยบายปี 2561 ได้แก่ หมวดการขยายบริการทางการเงิน เพิ่ม 5.1% (คะแนนเฉลี่ยปีนี้ 54.4% จาก 49.3% ในปีก่อน) หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่ม 12.1% (คะแนนเฉลี่ยปีนี้ 46.8% จาก 34.7% ในปีก่อน) และ หมวดการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่ม 0.9% (คะแนนเฉลี่ยปีนี้ 42.6% จาก 41.7% ในปีก่อน) นอกจากนี้หมวดที่ธนาคารส่วนใหญ่ได้คะแนนรวมโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ หมวดอาวุธ รองลงมาคือหมวด ภาษี ค่าตอบแทน สิทธิแรงงาน และ สิทธิมนุษยชน ตามลำดับ
หมวดที่ธนาคารได้คะแนนน้อยที่สุดและได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 5% มี 5 หมวด ได้แก่
- หมวดธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 1.7% (จาก 0.0% ในปีก่อน เป็น 1.7% ในปีนี้) โดยมีธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่เปิดเผยนโยบายในหมวดนี้
- หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขึ้น 1.2% (จาก 1.2% ในปีก่อน เป็น 2.3% ในปีนี้)
- หมวดความเท่าเทียมทางเพศ เพิ่มขึ้น 1.3% (จาก 1.5% ในปีก่อน เป็น 2.8% ในปีนี้)
- หมวดสิทธิมนุษยชน เพิ่มขึ้น 0.9% (จาก 1.7% ในปีก่อน เป็น 2.6% ในปีนี้)
- หมวดค่าตอบแทน เพิ่มขึ้น 2.3% (จาก 1.8% ในปีก่อน เป็น 4.1% ในปีนี้)
ทั้งนี้ธนาคารไทยโดยรวมยังไม่มีการประกาศนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy) ซึ่งรวมถึงแนวทางป้องกันความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนต่อสาธารณะ ยกเว้นธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนโยบายสินเชื่อของธนาคาร แต่ยังไม่เปิดเผยนโยบายสินเชื่อรายอุตสาหกรรม ส่วนธนาคารทหารไทยเปิดเผยนโยบายที่ชัดเจนมากกว่า
- ดิจิทัลดันบริการการเงินพุ่ง แต่ความเท่าเทียมทางเพศยังต่ำ
ทั้งนี้ในด้าน "การขยายบริการทางการเงิน" เป็นหัวข้อที่ธนาคารไทยโดยรวมได้คะแนนค่อนข้างดี ไม่มีธนาคารใดได้คะแนนต่ำกว่า 20% ในหมวดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความตื่นตัวของธนาคารไทยทุกแห่งต่อกระแสธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) ซึ่งขยับขยายพรมแดนของการให้บริการทางการเงินออกไปจากเดิมในบรรดาหมวดที่ธนาคาร 9 แห่ง
แต่หมวดที่ทุกธนาคารยังคงได้คะแนนน้อย คือ "หมวดความเท่าเทียมทางเพศ" ได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 2.8% และ "หมวดค่าตอบแทน" ได้คะแนนเฉลี่ย 4.1% สะท้อนถึงภาวะที่ธนาคารไทยโดยส่วนใหญ่ยังไม่เปิดเผยนโยบายที่ชัดเจนด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร และมีมาตรการป้องกันและบรรเทาการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อลูกค้าอย่างไร รวมทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์อื่นนอกเหนือจากการพิจารณาด้วยผลประกอบการทางธุรกิจมาใช้ในการประเมินค่าตอบแทนแก่พนักงาน เช่น การใช้เกณฑ์ความพึงพอใจของพนักงาน ความพึงพอใจของลูกค้า และการปรับปรุงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“การที่ธนาคารทุกแห่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีแรก สะท้อนว่าธนาคารไทยมีความตื่นตัวมากขึ้นต่อการเปิดเผยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่เป็นธรรมและความยั่งยืนในมิติต่างๆ ทางคณะวิจัยเองก็รับรู้ได้ถึงการเปิดรับและความตื่นตัว โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในช่วงการเข้าหารือในช่วงรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งธนาคารหลายแห่งมีการเปิดเผยนโยบายเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ทางการของตัวเอง” สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย กล่าว
ทั้งนี้ "แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย" มีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย ป่าสาละ จำกัด และองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยเริ่มต้นการประเมินครั้งแรกในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของภาคการธนาคาร ในบทบาทที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการดำเนินธุรกิจบนแนวคิดการธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) ผ่านการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เปิดเผย และเป็นธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชีวิตและความเป็นมนุษย์