ฝุ่นพิษกระทบเศรษฐกิจ 3.2-6 พันล้านบาท แนะรัฐเคลื่อนวาระแห่งชาติ
ฝุ่นพิษกระทบเศรษฐกิจ 3.2-6.0 พันลบ. เหตุผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยว ซื้อสินค้า อาหาร และสูญเงินกับการป้องกัน ดูแลสุขภาพ ก.คมนาคม ก.เกษตรฯ เร่งเดินหน้ามาตรการฝุ่นพิษ TBCSD แนะรัฐขับเคลื่อนวาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม
วานนี้ (10 มีนาคม) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดงานเสวนา “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” ณ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อาคาร ENCO B กรุงเทพฯ เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้ง นำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะต่อระดับนโยบาย) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า ปัญหา PM2.5 จะอยู่กับเราอีกนาน และคิดว่าปีหน้าก็จะกลับมาใหม่ แนวทางปฏิบัติ ไม่ใช่ทำตอนปัญหามาและหยุดตอนที่ปัญหาหมดไป ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม วนอยู่แบบนี้ และยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร PM2.5 ก็เป็นปัญหาที่เราไม่อยากให้เกิด เรารู้ว่าเกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล การเผา ดังนั้น หากไม่แก้ปัญหาก็ไม่จบ การออกมาตรการมา แล้วไม่ทำต่อเนื่อง ดังนั้น การออกมาตรการในมุมมองภาครัฐ ต้องมองด้วยว่าภาคธุรกิจอยู่รอดหรือไม่ ต้องมองอย่างสมดุล
ทั้งนี้จากผลการวิจัยเรื่อง “PM2.5 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยง PM2.5 ของผู้บริโภค ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การซื้อสินค้า อาหาร และการดูแลป้องกันรักษาตนเอง โดยประชาชนกว่า 60% ปรับการซื้อสินค้า (52% ลดความถี่ในการออกนอกบ้านเพื่อซื้อสินค้า ซื้อครั้งละมาก 30% ซื้อออนไลน์) ขณะที่ 70% ปรับการท่องเที่ยว (54% ยกเลิก งดเที่ยวชั่วคราว 33% ปรับเปลี่ยนแผนไปเที่ยวที่อื่นๆ 29% วางแผนออกนอกกรุงเทพฯ) 90% ปรับการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย (56% หันมาทำกิจกรรมภายในอาคาร ที่บ้าน 50% งดทำกิจกรรมชั่วคราว) และ 89% มีผลต่อสุขภาพ (60% ใส่หน้ากากอนามัย 30% ซื้อเครื่องฟอกอากาศ)
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด อธิบายว่า สำหรับในปี 2563 มีการประเมินในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน พบว่า ประเทศไทยมีค่าเสียโอกาสด้านเศรษฐกิจจาก PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ราว 3.2 - 6 พันล้านบาท แบ่งเป็น “ด้านสุขภาพ” 2-3 พันล้านบาท ในการซื้อหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ รักษาตนเอง ในผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ “ด้านท่องเที่ยว” 1 – 2.4 พันล้านบาท และ “อื่นๆ” ราว 200 – 600 ล้านบาท โดยเฉพาะร้านอาหารกลางแจ้ง และร้านค้าปลีกริมทาง ซึ่งหากปัญหายาวนานกว่านี้ ก็อาจจะสูญเสียเพิ่มมากขึ้น
“ปัญหา PM2.5 จะยังอยู่จนกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่า สาเหตุแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้งการเผาไหม้ของรถยนต์ การเผาในที่โล่งภาคเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม/ก่อสร้าง ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ตรงจุดต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อาทิ การซื้อเครื่องจักรตัดอ้อยทดแทนการเผาเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกัน ก็ปรับประสิทธิภาพการผลิตด้วย รวมถึงการเปลี่ยนรถเก่า เช่น รถอายุ 16 – 20 ปีขึ้นไป เป็นรถใหม่ที่มีมาตรฐานกว่าเดิมซึ่งอาจเป็นภาระของประชาชน ดังนั้น ภาครัฐ อาจต้องเสนอเงื่อนไข ที่จูงใจให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือ ควบคู่กับเงื่อนไขด้านภาษีและอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน”
“ทั้งนี้ การสูญเสียโอกาสด้านอื่นๆ ระยะยาว คงเป็นเรื่องสุขภาพซึ่งประเมินค่าไม่ได้ หากประเมินในเชิงของประเทศหมายความว่า ประเทศกำลังสูญเสียแรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงด้านการท่องเที่ยว ถ้าเรามีฝุ่นทุกปี เราก็อาจจะสูญเสียทางภาพลักษณ์ในการดึงดูดนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประเมินค่าลำบาก” นางสาวเกวลิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของ AIT เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า เกิดจากการขนส่งทางถนนกว่า 72.5% อย่างไรก็ตาม ในเขตต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสาน กลับมีสาเหตุมาจากการเผา ทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน
ดร.ชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงการคมนาคม กล่าวว่า เรื่องของ PM2.5 จะแก้ปัญหาแบบฉาบฉวยคิดมาตรการสั้นๆ ไม่ได้ กระทรวงคมนาคม ได้มองมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต้องทำต่อเนื่องและอดทนเพราะมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับมาตรการ ทั้งนี้ เรามอง 3 หัวใจหลัก คือ ให้คนใช้รถส่วนบุคคลน้อยลงและใช้รถสาธารณะมากขึ้น ถัดมาคือ การขนส่งระหว่างเมืองหันมาใช้ระบบรางมากกว่ารถบรรทุก และใช้อินโนเวชั่นเข้ามาช่วย
“แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในภาคคมนาคม ระยะสั้น ปี 2563 -2564 ได้แก่ 1. บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพของหน่วยงานทุกเดือน (เป็นประจำ) ทั้งหน่วยงานราชการ รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสารสาธารณะ ยานพาหนะและเครื่องจักรก่อสร้างของผู้รับเหมา 2. ปรับคุณภาพน้ำมันทั้งรถ เรือ โดยสารและรถไฟ 3 แก้ปัญหารถติด โดยบูรณาการ IT แก้ปัญหาจราจรท่าเรือ ปรับเวลาวิ่งรถบรรทุก ห้ามรถบรรทุกดีเซลวิ่งเมืองชั้นใน 4. ลดฝุ่น เข้มงวดผู้รับเหมาฉีดน้ำ รักษาความสะอาด ศึกษาแนวทางปรับปรุงจัดเก็บภาษี เพื่อเป็นมาตรการสำหรับกำหนดให้รถที่ใช้พลังงานสะอาดถูกลง”
สำหรับ แผนระยะกลาง ปี 2565 – 2569 ได้แก่ การส่งเสริมขนส่งสาธารณะ มาตรการด้านภาษี เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด แนวคิดในการบูรณาการสวัสดิการกับนโยบาย และจำกัดการใช้รถเก่า ส่วนแผนระยะยาว ปี 2570 -2575 คือ บังคับใช้มาตรการด้านภาษีและการจัดการความต้องการในการเดินทาง จำกัดการใช้เครื่องดีเซล ห้ามเข้าเขตกทม. ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ และเปลี่ยนเครื่องยนต์รถโดยสารสาธารณะเป็นพลังงานสะอาด
ด้าน นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พื้นที่เผาบ่อยซึ่งพิจารณาจากข้อมูล Hot Spot ย้อนหลัง 5 ปี (2558 - 2562) พบว่า เป็นพื้นที่เปราะบางากจำนวน 115,482 ไร่ ใน 35 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นข้าว 26 จังหวัด 29,920 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 13 จังหวัด 3,779 ไร่ และอ้อยโรงงาน 19 จังหวัด 81,783 ไร่ ดังนั้น กลไกการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานป้องกันการเผาเศษซากพืชฯ พร้อมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายระดับจังหวัด ระดับอำเภอ บูรณาการภายในพื้นที่
“โดยดำเนินการตามมาตรการ 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทางหลวง และพื้นที่ชุมชน ใน 5 มาตรการ ได้แก่ บัญชาการเหตุการณ์ สร้างความตระหนัก ลดปริมาณเชื้อเพลิง บังคับใช้กฎหมาย และทีมประชารัฐ ในการออกตรวจ ป้องกัน ระวัง ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุ นอกจากนี้ ยังจัดตั้งโครงการต่างๆ ในการรณรงค์หยุดเผา เพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน ใช้การปฏิบัติการฝนหลวงเฝ้าระวังในพื้นที่เผาสูง สร้างชุมชนเครือข่ายปลอดการเผา และสร้างการตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขับเคลื่อนในระดับอำเภอ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ” นายวิชัย กล่าว
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวถึงข้อเสนอแนะมาตรการแก้ปัญหาว่า ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแหงชาติ “การแก้ปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละออง” และหลักการ 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม สนับสนุนและสร้างแรงจุงใจในการลดการปล่อย PM2.5 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิจัยที่วิเคราะห์ต้นทุนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหา PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม พัฒนาเครือข่ายการตรวจวัด PM2.5 ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และทำการสื่อสารข้อมูล PM2.5 ให้เป็นเอกภาพ พร้อมสร้างแนวร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภารการเกษตร ในพื้นที่ๆ มีการเผา ต้องใช้มาตรการอย่างครบวงจร ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวจะมีการเสนอต่อทางรัฐบาลต่อไป