เงินเฟ้อเสี่ยง 'ติดลบ' ห่วงน้ำมันร่วง 'ลากยาว'
สถานการณ์ "ราคาน้ำมันตลาดโลก" ที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง หลังซาอุดีอาระเบียประกาศลดราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าลง 6-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะมีความกังวลว่าจะนำมาสู่ "สงครามราคาน้ำมัน" ของประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
แต่ตลาดยังคาดการณ์ว่าจะเป็น “ปัจจัยชั่วคราว” โดยฝากความหวังไว้ที่การทำข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหม่ ระหว่างกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลการเจรจา แบ่งเป็นกรณีดังนี้ 1.หากกลุ่มประเทศโอเปกพลัส(OPEC+) สามารถบรรลุข้อตกลงใหม่ได้ภายในเดือนมี.ค. 2563 จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำราว 1-2 เดือน และกลับเข้าสู่ระดับปกติ อาจจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ลดลงไปอยู่ที่ 0.2% จากปัจจุบันที่ 0.4%(สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 58 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล)
2.หากOPEC+ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใหม่ได้ภายในเดือนมี.ค. 2563 จะทำให้ในเดือนเม.ย. 2563 กลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้อย่างเสรี อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด กดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หากราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในระดับต่ำเกินกว่า 3 เดือน อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2563 ติดลบ เหมือนปี2558
โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ หากราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในระดับต่ำนาน 3 - 4 เดือน อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ -0.3% ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด เมื่อพิจารณาสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และ หากราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในระดับต่ำนาน 6 - 7 เดือน อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ -0.5%
อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบของสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2563 ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาจทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบต่อภาพรวมเงินเฟ้อไทย
ด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า สงครามราคาน้ำมัน น่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 แต่หลังจากนั้นกลุ่มโอเปคและพันธมิตรน่าจะกลับมาลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากสงครามราคากินเวลา 2 ไตรมาส จะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย Krungthai COMPASS มองว่ามีทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบ ด้านลบคือ จะกระทบการส่งออกไปตะวันออกกลาง ปีที่ผ่านมาการส่งออกไปตะวันออกลางมีสัดส่วนอยู่ที่ 3.4% ของการส่งออกสินค้าทั่วโลก สินค้าหลักคือ รถปิกอัพ 1 ตัน ซึ่งราคาน้ำมันมีผลต่อการนำเข้ารถยนต์จากไทยค่อนข้างมาก เช่นปี 2016 ราคาน้ามันลดลงระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี การส่งออกรถยนต์ไปตะวันออกกลางในปีนั้นหดตัวถึง 20.1%
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการส่งออกสินค้าเกษตรไปแอฟริกา โดยเฉพาะข้าว ในปี 2019 โดยไทยส่งออกข้าวไปแอฟริกา 4.1 ล้านตัน คิดเป็น 54.2 % ของปริมาณส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ซึ่งการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในแถบนี้ลดลงกว่า 50% ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย โดยจะเห็นจากในปี 2015 ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงค่อนข้างมาก ทำให้การส่งออกข้าวไทยไปแอฟริกามีปริมาณและมูลค่าลดลง 25.8% และ 27.3% ตามลำดับ
ในด้านการท่องเที่ยว พบว่านักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง มีสัดส่วน 1.8% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical อาจมาไทยลดลง เพราะรัฐบาลอาจส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศแทน เพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2016
ราคาน้ำมันที่ลดลง ยังส่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอลและไบโอดีเซล เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปจะถูกกว่าเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปมากขึ้น กระทบต่อความต้องการใช้วัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิง ชีวภาพ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ราคาน้ำมันที่มีทิศทางลดลง ส่งผลบวกต่อธุรกิจที่มีต้นทุนจากน้ามันเชื้อเพลิงในสัดส่วนที่สูง โดยธุรกิจ 5 อันดับแรกที่จะได้ประโยชน์ ได้แก่ ธุรกิจบริการทางการเกษตร ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจประมง ธุรกิจเหมืองแร่ และ ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ มีสัดส่วนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 34-60% ของต้นทุนการผลิตรวม
นอกจากนี้ ยังจะส่งผลบวกต่อค่าครองชีพ โดยอัตราตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจลดลงไปอยู่ที่ในกรอบ 0.2-0.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 0.8% เพราะราคาสินค้าในหมวดพลังงานมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อทั่วไปสูงถึง 11.75% แม้ว่าภัยแล้งที่รุนแรงกว่าคาดจะช่วย ผลักดันราคาอาหารสดให้สูงขึ้นแล้วก็ตาม
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น จากมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบของไทยลดลง ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจซบเซาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้การนำเข้าสินค้าทุนสำหรับใช้ในการผลิตยังหดตัวต่อไป คาดว่าไทยน่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราว 3.8-4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6.7%-6.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)