ปูดไอ้โม่งลักไก่ตั้งบอร์ด 'อสมท' ส่อขัดกฎหมาย

ปูดไอ้โม่งลักไก่ตั้งบอร์ด 'อสมท' ส่อขัดกฎหมาย

"อสมท" วุ่นไม่จบ ไอ้โม่งคิดลักไก่ ดันตั้งบอร์ดตัวเองส่อทำผิดกฏหมาย กรรมการผวาไม่กล้าประชุมร่วมพรุ่งนี้


มีรายงานว่า คณะกรรมการบริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน)หรือ mcot จะเรียกประชุมคณะกรรมการในบ่านวันพรุ่งนี้ โดยมีวาระที่ จะพิจารณาชื่อกรรมการแทนกรรมการที่หมดวาระ 4 คน แต่มีความผิดปกติตรงที่ แทนที่จะพิจารณา ตามที่คณะกรรมการสรรหา ได้พิจารณาเสนอคณะกรรมการตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 กลับจะใช้มติบอร์ด เพื่อบังคับให้คณะกรรมการสรรหา ไปพิจารณารายชื่อตามที่บอร์ดในวันพรุ่งนี้ส่งให้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะตามระเบียบและกฎหมาย รายชื่อจะต้องมาจาก คณะกรรมการสรรหาเสนอบอร์ดใหญ่ บอร์ดจะมีหน้าที่อนุมัติหรือไม่อนุมัติตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาเท่านั้น แต่นี่กลับไม่พิจารณารายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา และยังจะไปบังคับกรรมการสรรหา พิจารณาชื่อที่บอร์ดกำหนดอีก” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากจะไม่ให้อิสระแก่กรรมการสรรหา ซึ่งอาจจะผิดต่อหลักเกณฑ์ ของตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับหลักทรัย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจจะเข้าข่ายผิดกฏหมายอื่นอีก

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นนี้ทำให้กรรมการหลายคนของ อสมท ลังเลที่จะเข้าประชุมบอร์ดในบ่ายวันพรุ่งนี้ เพราะเกรงว่าจะเข้าร่วมประชุมและมีมติที่อาจจะผิดต่อกฏหมายได้

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากสหภาพแรงงาน อสมท ได้ระบุว่า มีความพยายามของกรรมการบางส่วนที่อ้างคำสั่ง “ผู้ใหญ่” ในรัฐบาล เพื่อให้เปลี่ยนแปลงการสรรหากรรมการใหม่แทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระ 1 ใน 3 หรือ 4 คน อันเป็นหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อต้องการให้คนของตนเองได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการ อสมท ต่อไป ทั้งๆที่คณะกรรมการสรรหาไม่อนุมัติต่อวาระบุคคลดังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีประชุมคณะกรรมการสรรหาที่มี นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาเป็นประธาน และเป็นกรรมการอิสระ อสมท มีมติให้ต่อวาระ นางภัทราพร วรทรัพย์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และ นายมนตรี แสงหิรัญ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท PTT ICT Solutions เป็นกรรมการต่ออีก 1 วาระ และมีมติไม่ต่อวาระแก่ พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา นายตำรวจเกษียณราชการ ประธานกรรมการอิสระ และนายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาส่งหนังสือถึงผลการสรรหากรรมการ ไปให้คณะกรรมการ อสมท เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อพิจารณาอนุมัติ แต่ปรากฎว่าบอร์ดผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ยอมรับผลของคณะกรรมการสรรหา โดยอ้างว่าต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. พิจารณาเรื่องนี้ และให้ตีกลับไปที่สคร.

“ตามขั้นตอนของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ ต้องให้บอร์ดอนุมัติก่อน จากนั้นจึงจะต้องส่งเรื่องให้ สคร. ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของกรรมการที่ได้รับการสรรหา มีความเหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่ผู้อนุมัติ ซึ่ง ปตท.ก็ดี หรือ ธนาคารกรุงไทยก็ดี ก็ใช้กฎเกณฑ์นี้เช่นกัน แต่บอร์ดที่มีส่วนได้ส่วนเสียกลับส่งเรื่องให้สคร.เพื่อให้มีการสรรหาใหม่”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรรมการสรรหาให้เหตุผลว่า ไม่ต่ออายุบางคน เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกรรมการเป็นทั้งอนุกรรมการเยียวยาคลื่น 2600 จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโยตรงกับ อสมท จึงไม่ต่ออายุให้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 คณะกรรมการ กสทช.มีมติ ให้จ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้ อสมท จำนวน 6685.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นตามผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“มีบอร์ดบางคนไปวิ่งเต้นให้สรรหาใหม่ โดยอ้างว่ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ประธานสรรหาบอกเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการสรรหาไปแล้ว”

แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องนี้ทางสหภาพแรงงานของ อสมท ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องการให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะจะส่งผลเสียหายคต่อ อสมท โดยทำหนังสือถึงนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล อสมท ตรวจสอบในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ามีการวิ่งเต้นกรรมการสรรหาครั้งนี้ จะเสียผลประโยชน์ต่อ อสมท

“การตั้งบอร์ดใหม่ 4 คน ที่มีการดึงเรื่อง ไม่รับรองในคราวประชุมบอร์ดเมื่อ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่จริงต้องจบภายในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะต้องให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 21 เม.ย.นี้รับรอง ซึ่งตามระเบียบตลาดหลักทรัพย์ ต้องส่งชื่อให้ผู้ถือหุ้นทราบภายใน 30 วัน ถ้าส่งไม่ทันก็ทำให้การตั้งบอรืดใหม่ตกไป หรือถ้าจะเรียกประชุมใหญ่หลังจากนั้น เพื่ออนุมัติบอร์ดใหม่อีก ก็จะเสียคค่าใช้จ่ายครั้งละ 1 ล้านบาท”