งัด 'กองทุนพยุงหุ้น' กู้วิกฤตตลาดหุ้นไทย
นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การลงทุนที่ต้องจารึกไว้ หลังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกถูกถล่มขายหนัก แดงยกกระดาน เรียกว่าอาการเข้าขั้นโคม่า หลายตลาดถึงขั้นต้องงัดมาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว หรือ “Circuit Breaker” ออกมาใช้เพื่อชะลอแรงขาย
ท่ามกลางความหวั่นวิตกของนักลงทุนต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปยุโรป จนทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ออกมาตรการขั้นเด็ดขาด ประกาศห้ามการเดินทางจากทุกประเทศในยุโรป ยกเว้นสหราชอาณาจักร เข้าสหรัฐเป็นเวลาถึง 30 วัน เพื่อป้องกันการระบาด หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก หรือ “Pandemic”
นอกจากนี้ ยังถูกซ้ำเติมหลังซาอุดีอาระเบียเปิดฉาก “สงครามน้ำมัน” ปรับเพิ่มกำลังการผลิตและลดราคาขายน้ำมันให้กับลูกค้า เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ไม่ยอมปรับลดกำลังการผลิตตามข้อเสนอของกลุ่มโอเปก กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งหนัก ทำจุดต่ำสุดรอบ 4 ปี จ่อหลุด 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เมื่อปัจจัยลบท่วมตลาด ประกอบกับความตื่นตระหนกของนักลงทุน จึงไล่ขายหุ้นกันทั้งโลก อย่างตลาดสหรัฐต้องใช้ Circuit Breaker พักการซื้อขายถึง 2 วัน (9 และ 12 มี.ค.) ส่วนในเอเชียเมื่อวันศุกร์ (13 มี.ค.) หนักหนาสาหัส มีเกาหลีใต้ อินเดีย และไทย ที่ต้องงัด Circuit Breaker ออกมาใช้
กลับมาดูหุ้นไทยครั้งนี้สาหัสจริงๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องหยุดซื้อขายชั่วคราว 2 วันติด คือ วันที่ 12 มี.ค. 2563 เมื่อเวลา 14.38 น. ดัชนี SET Index ลดลง 125.05 จุด หรือ 10% อยู่ที่ระดับ 1,124.84 จุด นับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่ต้องงัดมาตรการ Circuit Breaker ออกมาใช้ จากก่อนหน้านี้เคยใช้มาแล้ว 3 ครั้ง
วันรุ่งขึ้น 13 มี.ค. 2563 กลายเป็น “ศุกร์สยอง” สำหรับหุ้นไทย เปิดมาแค่ 2 นาที ต้องหยุดซื้อขายทันที หลังดัชนีดิ่ง 111.52 จุด หรือ 10% มาอยู่ที่ 1,003.39 จุด และเมื่อครบ 30 นาที กลับมาซื้อขายใหม่ปรากฎว่าลงต่อจนหลุดแนวรับสำคัญ 1,000 จุด ลงไปติดลบหนักสุด 145 จุด ก่อนค่อยๆ มีแรงไล่ซื้อกลับ จนพลิกมาบวกได้มากสุดเกือบ 50 จุด จากนั้นมีแรงขายสลับซื้อ พลิกไปพลิกมา เดี๋ยวบวกเดี๋ยวลบ ตลอดทั้งวัน ราวกับนั่งรถไฟเหาะตีลังกา
หากย้อนเวลากลับไปดูอดีต ต้องบอกว่าตลาดหุ้นไทยรอบนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะ 3 ครั้งแรก ที่ใช้ Circuit Breaker วันรุ่งขึ้นจะมีแรงซื้อกลับทันที แต่รอบนี้เปลี่ยนไปเพราะถูกถล่มขายต่อ แถมต้องหยุดพักการซื้อขายถึง 2 วันติด ดังนั้นโอกาสที่จะกลับมาบวกได้ภายใน 1 สัปดาห์แรก เหมือนช่วง 3 ครั้งที่ผ่านมา น่าจะเป็นไปได้ยาก
โดยข้อมูลจากบล.เอเชีย พลัส ระบุว่า มีการใช้ Circuit Breaker ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2549 และถัดจากนั้น 1 สัปดาห์ หุ้นไทย +10.7%, ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2551 ถัดจากนั้น 1 สัปดาห์ หุ้นไทย +4.3%, และครั้งที่ 3 วันที่ 27 ต.ค. 2551 ถัดจากนั้น 1 สัปดาห์ หุ้นไทย +15.9%
เมื่อตลาดเสียศูนย์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งออกมาตรการพยุงหุ้น เรียกคืนความเชื่อมั่น โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประเดิมปรับเกณฑ์ชอร์ตเซลล์ชั่วคราว จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เป็นจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เท่านั้น หวังสกัดความผันผวนตลาดหุ้นให้น้อยลง เริ่มดีเดย์ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 13 มี.ค. ไปจนถึง 30 มิ.ย. 2563
ขณะที่รองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ให้สัมภาษณ์เตรียมหารือนายกฯ วันนี้ (16 มี.ค.) จัดตั้ง “กองทุนพยุงหุ้น” โดยหลักการจะให้หน่วยงานรัฐใส่เงินก้อนหนึ่ง และให้เอกชนร่วมลงขันจัดตั้งกองทุนเพื่อนำไปซื้อหุ้น ซึ่งในอดีตเคยนำมาใช้แล้วทั้งหมด 3 ครั้ง
โดยบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ครั้งแรกเมื่อปี 2530 เกิดเหตุการณ์ “Black Monday” ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกไล่เทขายหนัก มีการตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 1 พันล้านบาท, ปี 2535 ตรงกับช่วง “พฤษภาทมิฬ” วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และปี 2544 หลังเกิดเหตุ “9/11 ถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 3 ครั้งที่ผ่านมา กองทุนช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้นไทยได้ และแทบเป็นจุดต่ำสุดในช่วงนั้นๆ
แต่สถานการณ์ในรอบนี้อาจลำบากขึ้น ด้วยขนาดหุ้นไทยปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคปราว 13.4 ล้านล้านบาท เทียบกับครั้งล่าสุดที่มีกองทุนฯ มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งกองทุนฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 0.6-0.7% ของมาร์เก็ตแคป ดังนั้น หากคิดในสัดส่วนเท่ากันอาจต้องใช้เงินสูงถึง 1 แสนล้านบาท และกว่าที่จะตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ วงเงินเท่าไหร่ สัดส่วนลงขันจะเป็นอย่างไร คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งอาจช้าไปหรือไม่ ?