อดีตรองเอ็มดี ตลท. ค้านตั้งกองทุนพยุงหุ้น หวั่นข้อครหาเอื้อกลุ่มทุน
“สันติ กีระนันท์” อดีต “รองผู้จัดการตลาดหุ้น” งัด 5 เหตุผล “ค้าน” ตั้งกองทุนพยุงหุ้น ชี้หากตั้งจริงต้องใช้เงินทุนก้อนมหึมา ส่อถูกครหาเอื้อกลุ่มทุน แนะควรนำไปใช้กับคนด้อยโอกาส พร้อมระบุการเข้าไปรับซื้อหุ้น อาจเป็นเพียงทางออกให้กับคนหนีตาย เชื่อสถานกา
นายสันติ กีระนันท์ อดีตรองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ถึงแนวคิดของรัฐบาลที่มีแผนจัดตั้ง “กองทุนพยุงหุ้น” ว่า เขา “ไม่เห็นด้วย” กับแนวคิดดังกล่าว
เขาแสดงความเห็นผ่าน เฟสบุ๊กว่า ก่อนที่จะเขียนเรื่องนี้ ผมชั่งใจอยู่พักหนึ่งว่าควรจะเขียนหรือไม่ แต่ในที่สุดก็คิดว่า ขอทำหน้าที่นักวิชาการทางการเงินที่บังเอิญมาทำงานทางการเมือง โดยขอแสดงความเห็นส่วนตัวอย่างเป็นอิสระ ซึ่งก็คงไม่ได้มีความกระทบกระเทือนอะไร เพราะเป็นความเห็นของคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งครับ
นอกจากนั้นแล้ว ผมก็เป็นคนที่มีสินทรัพย์ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมดที่มีเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในตราสารทุน
เรื่องที่อยากจะแสดงความเห็นนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยและทั้งโลกประสบปัญหาการแพร่กระจายของการติดเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจถูกกระทบ และตัววัดตัวหนึ่งที่มีความไวต่อเรื่องดังกล่าวก็คือ ราคาหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่หมายถึงเพียงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่รวมตลาดหลักทรัพย์หลักในโลกนี้ทุกตลาด โดยอาการหนักเกิดขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราว 30 นาที หรือที่เรียกว่า circuit breaker เพราะดัชนีราคาหลักทรัพย์ลดลงถึง 10% และเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งคือเช้าวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม หลังจากเปิดทำการซื้อขายไม่กีนาที ก็ต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง แต่ในที่สุด เมื่อสิ้นวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม ดัชนีราคาหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็มาปิดที่ระดับ 1,128.91 โดยบวกขึ้นมา 14.00 จุด หรือคิดเป็น +1.26% จากวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สูงถึง 119,659.78 ล้านบาท ทั้งนี้ การซื้อขายตลอดวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม มีความผันผวนอย่างมาก ลงแรงขึ้นแรงทั้งวัน
ประเด็นที่อยากจะชวนคุยคือ ภาครัฐมีมาตรการจะ “พยุงหุ้น” ด้วยการตั้งกองทุนพยุงหุ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้เมื่อในอดีต อย่างน้อยที่เป็นหลักฐานสำคัญคือ เมื่อปี 2540 ที่มีการดำเนินการดังกล่าว
ถึงบรรทัดนี้ ก็อยากจะแสดงความเห็นส่วนตัวไว้ก่อนว่า มาตรการใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อความต้องการพยุงหุ้น ในปัจจุบันนี้ ผมไม่เห็นด้วย เหมือนกับที่เคยแสดงความไม่เห็นด้วยเมื่อมีข้อเสนอในการนำ LTF กลับมาเพราะคิดว่า หากมี LTF เหมือนอดีต ตลาดอาจจะไม่ตกแรงอย่างที่เห็น จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงเป็นมาตรการในการให้ออก SSF เฉพาะกิจ เพิ่มวงเงินพิเศษให้อีก 200,000 บาท แต่ต้องลงทุนในกองทุนหุ้น (equity SSF) ที่มีการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% (ซึ่งทราบว่า เริ่มเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะถูกตีความว่า จะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 65% เสมอ ไม่ใช่ค่าเฉลี่ย ซึ่งในภาวะที่ราคาหุ้นผันผวนอย่างนี้ หากถูกบังคับให้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ตลอดเวลา ก็อาจจะยากแก่การจัดการ
นอกจากนั้น การจัดตั้งกองทุนเฉพาะกิจอย่างนี้ อาจจะมีผลทำให้ขนาดของกองทุนที่จัดตั้งขึ้น มีขนาดเล็ก ไม่เกิดการประหยัดเชิงขนาด และยากแก่การบริหารจัดการ) ... และเมื่อมาถึงขณะนี้ที่มีความผันผวนในราคาหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขนาดนี้ ก็มีแนวคิดในการตั้งกองทุนพยุงหุ้น
ความไม่เห็นด้วยของผมนั้น ต้องกราบเรียนว่า เป็นความไม่เห็นด้วยโดยบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ครับ เพราะหากการทำเช่นนั้นได้ผลจริง ก็จะมีผลทำให้ทรัพย์สินของผมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ มีมูลค่าเพิ่มกลับขึ้นมา แต่ผมมีเหตุผลประกอบความไม่เห็นด้วย 2 – 3 ประการครับ
ประการแรก การออกมาตรการตั้งกองทุนพยุงหุ้นนั้น หากจะให้ได้ผล ต้องเป็นการตั้งกองทุนขนาดใหญ่มากทีเดียว ลองคิดดูเร็ว ๆ ครับว่า เมื่อปี 2540 ในคราวที่มีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ในขณะนั้นที่วัดด้วย market capitalization (มูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาดตามราคาตลาด) ประมาณ 1.13 ล้านล้านบาท ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 14.42 ล้านล้านบาท (เคยสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ 18.38 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ผมทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยทำหน้าที่ในสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ก็คือดูแลบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์) หรือคิดง่าย ๆ ว่า จากปี 2540 มาถึงปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์โตขึ้นมาประมาณ 12.76 เท่า ดังนั้น ถ้าในอดีตเคยตั้งกองทุนมีขนาดประมาณ 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันจะต้องตั้งเท่าไร ก็ต้องลองคิดดูครับ
ประการที่สอง องค์ประกอบของนักลงทุนที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ มีทั้งคนที่เก็งกำไร และมีทั้งคนที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุน และเป็นทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ นอกจากนั้นแล้ว บริษัทจดทะเบียนจำนวนไม่น้อย ยังมี “เจ้าของตัวจริง” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนในการถือหุ้นของตัวเองค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นเองจริง ๆ ด้วยชื่อของตัวเอง หรือมี nominee ในการถือหุ้นก็ตาม ซึ่งราคาหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงนั้น มีผลต่อความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ (ซึ่งแน่นอนว่า ข้อหาเรื่องการเอื้อกลุ่มทุน เป็นข้อหาร้ายแรงที่มักจะมีการกล่าวอ้าง ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ การแก้ข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก) หากมีการตั้งกองทุนเพื่อพยุงหุ้นจริง ๆ แล้ว จะเป็นการสร้างประโยชน์ให้คนกลุ่มไหนบ้าง ... ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องตอบก่อนที่จะคิดมาตรการอะไรก็ตาม ว่าเป็นมาตรการที่ต้องการให้เกิดประโยชน์กับคนถูกกลุ่มหรือไม่
ประการที่สาม หากจะมีการใช้ทรัพยากรสาธารณะ (public resource) ไปในการตั้งกองทุนพยุงหุ้น ซึ่งถ้าผมเดา ก็คงจะเป็นลักษณะของ matching fund ก็คือ ทรัพยากรสาธารณะ : การลงขัน คำถามก็คือ ทรัพยากรสาธารณะซึ่งเป็นของจำกัด และควรจะถูกจัดสรรไปเพื่อช่วยคนที่ด้อยโอกาส คนที่เข้าไม่ถึงโอกาส หากนำมาใช้ในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นแล้ว การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นของหายากนี้ จะเป็นการจัดสรรอย่างเหมาะสมและสมประสิทธิผลมีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ต้องตอบให้ชัดเช่นเดียวกัน
ประการที่สี่ การเกิดความผันผวนอย่างหนักของราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้ ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในประเทศไทย แต่เกิดกับทุกตลาดทั่วโลก ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความเสียหายของทั้งระบบ (systemic situation) ถ้าเปรียบไปก็เหมือนกับเกิดสึนามิ (tsunami) อย่างรุนแรง การทำอะไรก็ตามเพื่อ “ฝืน” ความรุนแรงของสึนามินั้น น่าจะเป็นเรื่องที่จะเป็นไปได้ยาก ... กองทุนพยุงหุ้นที่จะเกิดขึ้น เมื่อเข้าไปรับซื้อหุ้นใดก็ตาม อาจจะเป็นเพียง “ทางออก” ให้คนหนีตายเท่านั้น ... เว้นแต่ว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนพยุงหุ้นนั้นจะเป็นไปเพราะอยากจะลงทุนใน “ของดีราคาถูก” เพราะเมื่อสึนามิผ่านไป ก็เชื่อว่าราคาหุ้นที่ลงทุนไว้นั้นจะกลับมามีมูลค่าที่สะท้อนความเป็นจริง และกองทุนก็จะได้กำไร ... แต่ก็ต้องตอบคำถามว่า นั่นเป็นวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมของการใช้ทรัพยากรสาธารณะหรือไม่
ประการที่ห้า เหตุการณ์ของการขาดความเชื่อมั่นจนเป็นเหตุให้ราคาหลักทรัพย์ผันผวนมากขนาดนี้ เป็นเหตุการณ์ชั่วคราวหรือไม่ ผมคิดว่าใคร ๆ ก็คงเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว เพียงแต่จะเป็นความชั่วคราวที่นานแค่ไหนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว (ซึ่งในที่สุด ต้องกลับมาเป็นปรกติ และราคาหลักทรัพย์ก็จะสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นอีกครั้งหนึ่ง ... แต่อาจจะใช้เวลานานพอสมควร) นั่นหมายความว่า ก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอะไรเป็นพิเศษ เพราะในที่สุด ระบบก็จะสามารถรักษาตัวเองให้กลับมาเป็นปรกติได้ ... ที่สำคัญก็คือ คนที่เสียหาย (ชั่วคราว) นั้น สามารถที่จะ “ทน” อยู่ได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่อง “ความเสี่ยง” ที่นักลงทุนที่จะเดินเข้ามาลงทุนในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินประเภทนี้ ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเข้ามาอยู่แล้ว
ย้ำอีกครั้งนะครับว่า นี่เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการทางการเงินตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ปัจจุบันมาทำงานทางการเมือง และเป็นคนที่ nobody แต่สนใจในการสังเกตปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีความประสงค์อื่นใดซ่อนเร้นทั้งสิ้น ... และอาจจะใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่ในแวดวงตลาดทุนมาบ้าง (ประมาณกว่า 20 ปี) ก็อยากจะสะท้อนความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระเท่านั้นครับ