สร้างอีโคดีไซน์เพิ่มมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก

สร้างอีโคดีไซน์เพิ่มมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก

มธบ.จับมือ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ร่วมแชร์ประสบการณ์ด้านอีโคดีไซน์ให้นักศึกษาจุดประกายวิธีสร้างมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลกให้โดนใจลูกค้า

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) จัดกิจกรรม Playfessional  ชอบทางไหนต้องไปให้สุด” โดยมีจุดประสงค์ให้นักศึกษาได้เปิดมุมมองจากประสบการณ์ตรงของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ เพื่อนำไปพัฒนาความชอบ สร้างเสริมความเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่ยังเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย

ครั้งนี้จัดภายใต้หัวข้อ “Design เปลี่ยนโลก” การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจาก นางสาววิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ หรือ คุณเอ๋ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA และ Artist in Residence โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพฯ เจ้าของผลงานศิลปะสร้างสรรค์ที่เน้นการสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม  

นายพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หรือคุณวิทย์ Principal Architect & Co-founder PHTAA Living Design  และนายทรงวุฒิ ทองทั่ว หรือคุณโย   ดีไซเนอร์ไทย เจ้าของไอเดีย แปลงขยะ-ถุงปูน สู่เวทีแฟชั่นในอเมริกา  ร่วมเป็นวิทยากร โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อส่งเสริมการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บอกเล่าประสบการณ์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบทั้ง 3 ท่าน เพื่อจุดประกายไอเดียให้น้องๆที่เรียนด้านการออกแบบ เข้าใจในสิ่งที่ตนจะสร้างสรรค์ออกมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

น.ส.วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ (เอ๋) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA และ Artist in Residence โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพฯ กล่าวว่า โดยส่วนตัวสร้างสรรค์งานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่กำลังศึกษาอยู่ โดยชอบนำสิ่งที่เหลือใช้หรือขยะมาสร้างชิ้นงาน  การเป็นศิลปินต้องศึกษาให้กว้าง ต้องรู้ความเคลื่อนไหวของสังคมและโลก ซึ่งปัจจุบันคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ดังนั้น การนำวัสดุที่เหลือใช้หรือขยะ มาจัดแสดงเป็นงานศิลปะผ่านเรื่องราวที่นำเสนอจากวัสดุต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมรักษ์โลกมากขึ้น โดยเป้าหมายในปีนี้อยากสื่อให้ทุกคนเห็นว่าวัสดุเหลือใช้จะไม่มีอีกต่อไป แต่จะเป็นวัสดุรอการใช้งาน ขยะมีคุณค่ามากกว่าที่คิด

“ฝากถึงน้องๆที่อยากเป็นนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ถ้าคิดและฝัน อยากเก่ง อยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่พยายามหรือไม่ลงมือทำ สิ่งนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้น เมื่อมีโอกาสเข้ามาในชีวิต อย่าทิ้งโอกาสนั้นเพียงเพราะความไม่ชอบหรือไม่ถนัด”น.ส.วิชชุลดา กล่าว

เพราะในวันข้างหน้าอาจจะได้นำองค์ความรู้ตรงนั้น มาปรับใช้กับงานในอนาคต และในการทำงานอย่ามองเพียงแค่ได้กำไรหรือขาดทุน เพราะกำไรไม่ใช่ตัวเงินเสมอไป อาจเป็นความสำเร็จที่ทำเพื่อสังคม ส่วนการทำเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต้องมีคุณธรรม ต้องคำนึงถึงโลก อย่าสร้างเพียงภาพลักษณ์เท่านั้น ถ้ามีใจรักงานทางด้านจริงๆ จะอยู่ในวงการนี้ได้อย่างยั่งยืน 

นายทรงวุฒิ ทองทั่ว (โย) ดีไซเนอร์ไทย เจ้าของไอเดีย แปลงขยะ-ถุงปูน สู่เวทีแฟชั่นในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า Passion ส่วนตัวชอบใส่เสื้อผ้ามือสอง จึงร่วมกับเพื่อนสร้างแบรนด์เสื้อผ้ามือสองขึ้น แต่เมื่อ 10 ปีก่อนตลาดดังกล่าวยังมีขนาดเล็ก ความนิยมยังน้อย ทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นดีไซเนอร์ที่ Greyhound ประสบการณ์การทำงานในขณะนั้น ทำให้รู้ว่าธุรกิจเสื้อผ้ามีองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ การตลาด การประชาสัมพันธ์ จึงตัดสินใจลาออกและไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจและเรียนด้านแฟชั่นประกอบไปด้วย

หลังเรียนจบได้นำองค์ความรู้ทั้ง 2 ด้านมารวมกันพร้อมปรับทัศนคติทางด้านความคิดใหม่พบว่า ความยั่งยืนของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่หาได้ การทำธุรกิจไม่ได้วัดที่เงินเสมอไป จึงกลับมาทบทวนพร้อมตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ และค้นพบตนเองว่าชอบอะไร มีจุดมุ่งหมายแบบไหน จนตกผลึกสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา

ภายใต้ชื่อ Renim Project ออกแบบเสื้อผ้าโดยการหยิบจับสิ่งรอบตัวมาดีไซด์ใหม่ ในวงล้อของ 4R (Reduce, Reuse, Recycle, Repair) โดยคอลเลคชั่นนี้หยิบแรงบันดาลใจจากคนงานก่อสร้างไทยและผลงานดังกล่าวได้มีโอกาสไปร่วมโชว์ในงาน LA Fashion Week 2019 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

“การเป็นนักดีไซเนอร์ ต้องชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ การออกแบบแต่ละครั้งต้องมองวัสดุนั้นให้สวยงามไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนสูง ใช้งานดีไซด์เพิ่มมูลค่าแทน ยิ่งมีต้นทุนน้อยยิ่งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทุกวันนี้พฤติกรรมการบริโภคของคนเปลี่ยนไป”นายทรงวุฒิ กล่าว

หลายคนชอบสิ่งที่เฉพาะตัวมากขึ้น การทำสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ จะมีความ Craft ทำให้อยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามตลาดงานออกแบบอีโคดีไซน์ในไทย ยิ่งมีคู่แข่งเยอะยิ่งดี เพราะจะช่วยลดขยะมากขึ้น นอกจากนี้ผลงานที่ออกมามากมายจะเป็นแนวทางให้เด็กรุ่นใหม่มองสิ่งรอบตัวให้มีคุณค่าขึ้น

นายพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หรือคุณวิทย์ Principal Architect & Co-founder PHTAA Living Design  กล่าวว่า หัวใจหลักของนักดีไซด์ คือ ต้องมีใจรัก ส่วนการสร้างผลงานที่ช่วยลดขยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้วิธี Re Appropriate  เป็นการปรับให้เหมาะสมในอีกรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างการนำบัวเชิงพื้น เชิงผนัง ที่มีอยู่หรือไม่ใช้แล้วนำมา Reuse ใหม่ ในรูปแบบของเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นผนังในร้านอาหาร สามารถตอบโจทย์การนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ใหม่ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทางอ้อม

ทั้งนี้ จากผลงานที่เคยออกแบบในเชิงอนุรักษ์กระแสตอบรับดี เพราะคนกำลังให้ความสนใจด้านนี้ ส่วนคู่แข่งงานออกแบบอีโคดีไซน์ในไทย แต่ละคนก็มีไสตล์การออกแบบแตกต่างกัน ซึ่งผลงานก็ย่อมแตกต่างกันไป

“การมาแชร์ประสบการณ์ผ่านกิจกรรม Playfessional ในครั้งนี้ น้องๆอาจจะยังไม่ได้นำไปใช้ในวัยเรียน แต่ในอนาคตเมื่อเจอสถานการณ์จริง อาจนำเรื่องที่ได้รับฟังในครั้งนี้ไปปรับใช้ในการทำงานได้ สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้ที่อยากสร้างสรรค์ผลงานออกมา ถ้าอยากสร้างอะไรอย่าคิดนาน เพราะจะทำให้เกิดความล่าช้า ถ้าคิดแล้วลงมือทำเลยจะไปต่อได้เร็วขึ้น” นายพลวิทย์ กล่าวในตอนท้าย