'เศรษฐพงค์' ชี้ช่องสร้างธุรกิจ 'Health tech' ดูแลสุขภาพคนไทยยามวิกฤต
“เศรษฐพงค์” ชี้ช่องสร้างธุรกิจ “Health tech” ดูแลสุขภาพคนไทยยามวิกฤต เชียร์พลิกวิกฤต “โควิด-19” เป็นโอกาส ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวถึงวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สถานการณ์โควิดฯ ในประเทศไทยขณะนี้จะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ต้องยอมรับว่าการระบาดของเชื้อไวรัสได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนทั่วโลก รวมถึงประชาชนคนไทย ส่งผลกระทบโดยตรงในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า บริษัทต่างๆ อาจมีการปลดพนักงาน ซึ่งบริษัทที่แข็งแกร่งจริงๆ เท่านั้น ที่จะสามารถอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ได้
“หลายธุรกิจอาจต้องปิดตัวลงไป แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ด้วยธุรกิจสตาร์ทอัพ(Start up) ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น 5G, Iot (Internet of things) รวมถึงแพลตฟอร์มการทำงานการเรียนออนไลน์ แพลตฟอร์มเทเลเมดิซีน(Telemedicine) ฯลฯ อีกมากมายที่จะเข้ามาช่วยสร้างธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ (Health Tech) ได้ทันที โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ เพียงแต่กล้าคิด ริเริ่ม ไม่มองข้ามโอกาสทุกคนก็สามารถทำสำเร็จได้”
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ยกตัวอย่าง Sentinel Healthcare ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในรัฐซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาริเริ่มเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และได้เปลี่ยนแผนการทำงานได้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิดฯ เขาได้สร้างแอปพลิเคชัน Sentinel Fever Tracker ที่สามารถช่วยดูแลระบบสุขภาพ โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และนายจ้างให้เห็นสถานะของผู้ที่เชื่อว่าจะได้รับเชื้อ ซึ่งผู้ใช้แอปฯ สามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง ใช้ติดตามผู้ป่วยแต่ละราย ติดตามการแพร่ระบาดของโรค
ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่สตาร์ทอัพด้าน Health Tech ของประเทศไทยจะต้องปรับตัวสร้างธุรกิจ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มารับมือกับการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นโอกาสที่จะสร้างชาติได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
“จากประสบการณ์ผมเห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีวิกฤตรูปแบบใหม่ จากคนที่กล้าคิด กล้าทำ ซึ่งปัจจุบันนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่พัฒนาไปไกลและเร็วมาก เราสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังๆ หรือสร้างแพลตฟอร์มขึ้นใหม่ให้กับธุรกิจของตัวเอง และช่วงวิกฤตนี้จึงเป็นโอกาสที่สตาร์ทอัพไทย จะได้แสดงความสามารถคว้าโอกาสที่ธุรกิจด้านสุขภาพ(Health tech) กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์กับตัวเองในแง่การทำธุรกิจแล้ว ยังจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน เป็นการร่วมมือกันสร้างชาติ ในช่วงที่ประเทศต้องเจอกับวิกฤตไวรัสโควิดฯอีกทางหนึ่งด้วย” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว