ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี

ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี

ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) เพื่อปรับเงื่อนไขการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการร่วมลงทุนในปัจจุบัน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มี.ค.เห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SME (กองทุนย่อยกองที่ 1) ทั้งนี้ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยกเว้นกองทุนย่อยกองที่ 1 ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไป การปรับโครงสร้างกองทุนฯ มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1.ปรับเป้าหมายและวงเงินลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละราย โดยเน้นการลงทุนใน SMEs / Startup ที่มีศักยภาพสูงหรือใช้เทคโนโลยีในการผลิตหรือการให้บริการ ต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ และกำหนดให้แต่ละรายร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท มีสัดส่วนร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน


2.กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน (Asset Manager) เช่น ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย มีความรู้และประสบการณ์ด้านการเงินหรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ควบคุมการนำเงินร่วมลงทุนไปใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การลงทุน


3.มีคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน (Investment Committee) ทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการลงทุนและกำกับดูแลการลงทุนของกองทรัสต์

นางสาวรัชดากล่าวว่าสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) มีลักษณะเป็นกองทุนเปิดประเภททรัสต์ (Trust) เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ขนาดกองทุน 10,000 - 25,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการลงทุนจากภาครัฐ ร้อยละ 10 - 50 ส่วนที่เหลือให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบของกองทุนย่อยๆ ระดมทุนครั้งละไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อกองทุนย่อย โดยมีคณะกรรมการกองทุนฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จำนวนไม่เกิน 7 คน เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารของกองทุนฯ และมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ลงทุนในส่วนของภาครัฐ โดยจัดตั้งกองทุนย่อยกองที่ 1 วงเงิน 500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวนกิจการที่ผ่านการอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว จำนวน 8 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 98 ล้านบาท และมี 2 กิจการที่ได้ร่วมลุงทุนแล้ว วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 39 ล้านบาท

จากการดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า หลักการจัดตั้งกองทุนฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น 1) กำหนดให้การลงทุนใน SMEs ช่วงเริ่มต้นไม่ควรเกิน 5 ล้านบาทต่อราย และSMEs ขนาดเล็กและขนาดกลางไม่ควรเกิน 30 ล้านบาทต่อราย หรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน ส่งผลให้ SMEs / Startup บางกิจการที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด หรือกรณีที่มีผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนที่กำหนดไว้จะไม่สามารถเข้าร่วมลงทุนได้ 2)กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน(Asset Manager) ให้มีส่วนร่วมลงทุนใน SMEs ที่ดูแลอย่างน้อยร้อยละ 5 ซึ่งผู้จัดการทรัพย์สินจะเลือกเฉพาะกิจการที่ตัวเองสนใจและได้ผลตอบแทนดี ทำให้กิจการอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในความสนใจไม่ถูกคัดเลือก 3) การบริหารกองทุน โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เนื่องจากต้องขออนุมัติผ่านคณะกรรมการกองทุนฯ