'สหพัฒน์' ชี้ผู้บริโภคตุนสินค้า โจทย์ท้าทายกว่าน้ำท่วมใหญ่ปี54
โรคโควิด-19ระบาดลามโลก กลายเป็นความท้าทายของพลเมืองโลก แพทย์ พยาบาล ภาครัฐทุกประเทศ ประชาชน ต้องร่วมมือฝ่าวิกฤติ มองกลับมาที่ไทย การตื่นตระหนกของคนชาติ ไม่ได้มีต่อโรค เพราะอาการตระหนกลามการตุนสินค้า สร้างความท้าทายให้ธุรกิจเติมสินค้าทันดีมานด์
วิกฤติที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในเวลานี้ คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อ “ชีวิต” ของประชากรโลกจำนวนมาก จากการมีผู้ล้มป่วยและ “เสียชีวิต” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนผลพวงที่ตามมาและลุกลามทั่วโลก รวมถึงไทย หนีไม่พ้นภาวะ “เศรษฐกิจ”ถดถอย เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญๆหลายตัวต้อง “ดับ” เช่น การท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคภายในประเทศ การส่งออก ล้วนชะลอตัว เพื่อหาทาง “จำกัด” และลดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เริ่มบังคับใช้ไปเมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้การออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจกังวลตามมาคือ หากมีการกำหนดเวลาในการขนส่งสินค้าและบริการ อาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้าปลีก ทำให้ถึงมือผู้บริโภคช้า อาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนสินค้า
อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้ภาครัฐจะไม่ประกาศเรื่องดังกล่าว แต่ผู้ประกอบการยังมองว่าเป็น“ความท้าทายด้านโลจิสติกส์”อย่างมาก โดยเฉพาะการ “เติมสินค้า” ให้เพียงพอต่อความต้องการ
สหพัฒน์ ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยมีรายได้ร่วม “3 แสนล้านบาท” ต่อปี มี “สหพัฒนพิบูล” เป็นซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าเข้าห้างค้าปลีก และร้านค้าทั่วไทยรวมถึง 90,000 ช่องทาง ได้ปรับยุทธวิธีการทำงานและส่งสินค้าอย่างเข้มข้ม
เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า เมื่อการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่กระทบโลจิสติกส์ แต่ภาวะที่ประชาชน “ตื่นตระหนก” เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และระดมไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจำนวนมากเพื่อตุนไว้บริโภค ในยามที่ไม่ต้องออกจากบ้าน ทำให้บริษัทต้องวางแผนการทำงานอย่างละเอียดมากขึ้น ทั้งการหาสินค้าให้ครบตามความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งต่อผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย การเติมสินค้าให้ทัน
เวทิต โชควัฒนา
ทั้งนี้ การเติมสินค้าให้ลูกค้า จากเดิมบริษัทจะจัดส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าหรือคลัง แต่ปัจจุบันคลังสินค้าแต่ละแห่งของลูกค้าค่อนข้างแน่น ทำให้ต้องจัดทัพรถหลายร้อยคัน เพื่อกระจายส่งสินค้าไปยังช่องทางขาย หรือห้างค้าปลีกต่างๆโดยตรงที่ “สาขา”
นอกจากยอดขายออฟไลน์ที่เพิ่มจากความต้องการ “ตุน” สินค้า ช่องทางออนไลน์ก็เติบโตตามไปด้วย ทำให้บริษัทสับเปลี่ยนหมุนเวียนหรือ Rotation พนักงานที่เคยไปให้บริการลูกค้าผ่านหน้าร้านต่างมาช่วยหยิบจับ จัดแจงส่งสินค้าป้อนลูกค้าช่องทางออนไลน์ด้วย ที่ขณะนี้มีการเติบโต “เท่าตัว” ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
สำหรับการบริหารจัดการด้านการขนส่งและกระจายสินค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือว่าหนักกว่าช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งบางเส้นทางถูกตัดขาดไม่สามารถส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้
“โควิดการส่งสินค้าช่วงนี้(โควิด-19ระบาด)หนักกว่าน้ำท่วมมาก เราอาจไม่ได้ทพ Survivla plan เพราะเราขนส่งสินค้าจำเป็น ของที่ผู้บริโภคกินใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน แต่ความท้าทายครั้งนี้คือการรับฟังความต้องการของลูกค้า ที่ให้จัดหาสินค้าให้ครบเพื่อส่งไปยังช่องทางต่างๆ ทั้งที่การผลิตสินค้าเพิ่มปริมาณมากขึ้นแล้ว แต่การหยิบของอย่าง Panic ของผู้บริโภค ทำให้การเติมสินค้าไม่ทัน แต่ยืนยันว่าเรายังเติมสินค้าต่อเนื่อง” เวทิตย้ำมาตราการรับมือผู้บริโภคแห่ตุนสินค้า
ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลอีกประการ หากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทา และภาพรวมเข้าสู่สภาวะปกติ คือจะเห็น New Normal ของพฤติกรรมผู้บริโภคทุกภาคส่วน ที่สามารถ “ทำงาน-ชอปปิงผ่านออนไลน์” ซึ่งตอบโจทย์ความสะดวกสบายอย่างมาก ลดการเดินทาง ไม่ต้องออกไปข้างนอกบ้านเพื่อเผชิญการจราจรติดขัด หาที่จอดรถยาก และเจอสภาพอากาศร้อน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ออนไลน์จะตอบโจทย์ความสะดวกสบาย แต่เชื่อว่าจะไม่เข้ามาแทนที่การใช้ชีวิต ทำงาน ชอปปิงออฟไลน์ เพราะผู้บริโภคชาวไทยยังออกไปนอกบ้าน เพื่อเข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง สภาพอากาศที่ร้อนทำให้การเข้าไปใช้บริการในห้างค้าปลีกคงอยู่ต่อเนื่อง
“จับตา New Normal ที่จะเกิดขึ้นในสังคม เพราะตอนนี้คนอยู่บ้าน ทำงาน ชอปปิงออนไลน์สะดวกมาก คนสูงวัยที่ไม่เคยใช้ออนไลน์ อาจใช้งานคล่อง เก่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเติบโตมากขึ้น แต่คงไม่เข้ามาทดแทนออฟไลน์ได้ ยังเป็นไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่มีอยู่ต่อไป แต่ทั้ง 2 ส่วนจะเติบโตควบคู่กันไป”
นอกจากนี้ ที่ต้องจับตาหากทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติคือยอดขายสินค้าของบริษัท เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้การซื้อสินค้าไปไว้บริโภคมีจำนวนมาก หากบริโภคไม่หมด อาจทำให้ยอดขายปรับตัวลดลงได้
สำหรับบริษัทสหพัฒนพิบูล ปี 2562 มีรายได้ 33,412.62 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อยจากปี 2561 ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,709.78