‘เกษตรกร’ และคนใน ‘ประกันสังคมมาตรา33’ ทำไม ลงทะเบียน ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ไม่ได้
จะทำอย่างไร “เกษตรกร” และ คนในระบบ “ประกันสังคมมาตรา 33” ที่เข้าถึงช่องทางการช่วยเหลือจากภาครัฐ เหมือนผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน จากสถานการณ์ "โควิด-19"
หลังจาก เปิดลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com มาตรการสนับสนุนเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนให้กับแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ตลอดจนแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบเป็นมาตรการเร่งด่วนเมื่อ 18.00 น.ของวันที่ 28 มีนาคม นั้น เกษตรกร รวมทั้ง คนที่มีรายชื่อในระบบ ประกันสังคมมาตรา 33 กลายเป็นคำถามที่ถูกถามกันมากที่สุดอีกคำถามหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการลงทะเบียน หรือการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล รวมทั้งยังมีข้อสงสัยถึงสถานะอื่นๆ ว่าตนเองนั้นเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวหรือไม่
จากที่ กระทรวงการคลัง ได้มีการเผยแพร่เอกสารเผยแพร่มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจาก ไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ซึ่งในรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวก็ระบุชัดเจนถึงเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการ ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ เป็นต้น หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รวมมาตรการช่วยเหลือ "เกษตรกร" ของ "ธ.ก.ส."
- www.เราไม่ทิ้งกัน.com ลงทะเบียน อย่างไรก่อน เว็บล่ม
โดยไม่รวม ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมคุ้มครองอยู่แล้ว รวมถึง ข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ อีกทั้งยังไม่รวม เกษตรกร ด้วย เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรนั้นจะมีมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว
คำอธิบายเพิ่มเติมสำหรับ เกษตรกร ก็คือ อันที่จริง เกษตรกรก็จัดอยู่ในกลุ่มที่สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 ได้ แต่เมื่อเกษตรกรลงทะเบียนรับสิทธิในส่วนนี้แล้ว เกษตรกรรายนั้นจะไม่ได้รับสิทธิสำหรับมาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐจะออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไปในอนาคต นั่นเอง
ในกรณีของ ผู้ประกันตนของประกันสังคม มาตรา 33 ที่จะเข้าข่ายสามารถสามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน ได้นั้น จะต้องอยู่ในข่ายที่ส่งเงินเข้าประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ผู้ประกันตนของประกันสังคมในมาตรา 38 ที่ตกงาน หรือออกจากงานมามากกว่า 6 เดือนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19
นิยามของ ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างผู้ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการ หรือพนักงานเอกชน สำหรับ ผู้ประกันตน มาตรา 38 คือ พนักงาน หรือลูกจ้างที่ออกจากงานแล้ว และประกันสังคมยังคุ้มครอง อีก 6 เดือน
สำหรับ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 สามารถลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือของรัฐบาลได้ ซึ่ง ผู้ประกันตน มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนแบบสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือมีเหตุให้ต้องหลุดออกจากงานเดิม ส่วน ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ออมสิน' เลื่อนลงทะเบียนเงินกู้ฉุกเฉินผ่าน www.gsb.or.th เป็น 15 เม.ย.
ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้ประกันตนใน ประกันสังคมมาตรา 33 สามารถรับสิทธิประโยชน์อะไรได้บ้าง
สำนักงานประกันสังคม ได้ออก มาตรการเพื่อเยียวยาแรงงานในระบบ โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม – 31 สิงหาคม 2563 ดังนี้
- กรณีผู้ประกันตนมีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ
เข้าไปตรวจรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ หากแพทย์ประเมินอาการแล้วสงสัยว่าเข้าข่ายป่วยโรคโควิด-19 แพทย์จะส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องแล็บ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ หากผู้ประกันตนรายนั้นป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรี หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง
- ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน
เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ซึ่งต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ที่มีนายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 180 วัน
- กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว
ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 60 วัน
- กรณีลาออก
ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (จากเดิมร้อยละ 30)
- กรณีเลิกจ้าง
ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน (เดิมร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน) ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคณะกรรมการประกันสังคมจะพิจารณาอีกครั้ง
- ลดอัตราเงินสมทบ
และขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน “ในส่วนของนายจ้าง” ร้อยละ 4 ของค่าจ้างผู้ประกันตน (เดิมร้อยละ 5 ) และ “ผู้ประกันตน” เหลือร้อยละ 1 (เดิมร้อยละ 5 ) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 โดยค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และ งวดเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กันยายน 2563
- กรณีเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอของบกลางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพื่อเยียวยาลูกจ้าง ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามอายุการทำงาน หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างผ่านกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 4,720 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะต้องติดตามเงินดังกล่าวจากนายจ้างเพื่อส่งคืนเงินแก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป
- พัฒนาทักษะฝีมือ
ให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ทำ (Up skill) หรือเพื่อประกอบอาชีพเสริม (Re - skill) ในหลักสูตรอาทิ ภาษาอังกฤษ การประยุกต์ใช้ IOT เพื่อการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ ระยะเวลาฝึก 1 เดือน/รุ่น กลุ่มเป้าหมายจำนวน 7,000 คน ( 350 รุ่น) ทั่วประเทศ งบประมาณ 35,000,000 บาท
- จ้างบัณฑิตที่ว่างงานเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงาน
ในระดับพื้นที่ เพิ่มเป็น 841 อำเภอ อำเภอละ 2 คน (เดิม 38 อำเภอ) เพื่อให้บริการของกระทรวงแรงงานเข้าถึงประชาชนในระดับฐานรากอย่างทั่วถึง เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การพัฒนาทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
www.เราไม่ทิ้งกัน.com ลงทะเบียนอย่างไร พร้อมแจก 'เช็คลิสต์' เตรียมพร้อมก่อนลงจริง
สถานการณ์ ‘โควิด-19’ ผลกระทบผู้ประกอบการ
เตือนภัย! 44 เว็บปลอมเราไม่ทิ้งกัน
สำหรับ ภาคกสิกรรมอย่าง เกษตรกร นั้น เบื้องต้น กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเกษตรจังหวัดติดตามสถานการณ์ปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ และจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านการเกษตร เสนอกรมฯ ทราบ เพื่อดำเนินการประสานงานแก้ไขต่อไป
รวมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้งานในขณะนี้ เช่น หน้ากากผ้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมจัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูปขององค์กรเกษตรกร เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับพี่น้องประชาชนได้เลือกซื้อได้อย่างสะดวก โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการผลิต และความรู้ในการด้านการทำการตลาด online ให้กับเกษตรกร ในส่วนของการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป