งบกลางหมดหน้าตัก ชง ครม.เคาะ พ.ร.บ.โอนงบ หวังสู้วิกฤติโควิด
สำนักงบประมาณเตรียมแจ้ง ครม.รับทราบงบกลาง 9.6 หมื่นล้านหมด หลังใช้แก้วิกฤติแล้ง-โควิดจำนวนมาก ชี้ งบปี 2563 วงเงิน 3.2ล้านล้าน มีแผนใช้จ่ายหมดแล้ว เสนอรัฐบาลออก พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณปรับการใช้เงิน
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มี.ค.นี้ จะรายงานสถานการณ์งบประมาณปี 2563 หลังจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2563 ขณะนี้มีรายจ่ายที่ผูกพันไว้ใกล้ครบ 96,000 ล้านบาทแล้ว หากรัฐบาลไม่ตัดสินใจใดอาจไม่มีงบใช้จ่ายในมาตรการใหม่เพื่อแก้ภัยแล้งและโควิด-19
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติงบกลางเป็นระยะ โดยได้อนุมัติงบกลางช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้ง 18,000 ล้านบาท และงบอีกส่วน 45,000 ล้านบาท เพื่อแจกประชาชนคนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงินคนละ 15,000 บาท และยังมีเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ซื้อบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2,000 ล้านบาท
สำหรับการแก้ไขกรณีดังกล่าวมี 2 แนวทาง คือ 1.กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่มีหลายประเด็นต้องตีความ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินได้หรือไม่ โดยมาตรการ 140 กำหนดว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินจะทำได้เฉพาะรายจ่ายที่อนุญาตตามงบประมาณเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถทำได้เพราะเป็นรายจ่ายฉุกเฉิน
ขณะที่มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ดำเนินการได้ทันทีกรณีที่เหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งเรื่องนี้อาจใช้เวลาพิจารณานาน เพราะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
2.สำนักงบประมาณมีแผนสำรอง โดยขอให้ ครม.เสนอออกกฎหมาย พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณจากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ทันมาไว้ที่งบกลาง ซึ่งปีที่ผ่านมาสำนักงบประมาณเสนอรัฐบาลชุดแล้วใช้วิธีการนี้ เพราะทำได้รวดเร็วจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ครม.ว่า จะเลือกแผนใดเพื่อเติมงบกลาง
ส่วนมติ ครม.วันที่ 10 มี.ค.2563 คำสั่งให้ส่วนราชการบริหารงบประมาณกรณีที่ไม่ได้ใช้จ่ายและให้ตัดออกเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น งดเดินทางประชุมในต่างประเทศ โดยขอตัดงบ 10% และย้ายงบมาที่งบกลาง แต่ขณะนี้ยังไม่มีส่วนราชการใดระบุว่าได้ตัดงบบริหารได้แม้แต่หน่วยงานเดียว