สธ. เผยวันนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด8รายรวมทั้งหมด 19 ราย
เผยยอดบุคลากรทางแพทย์ติดโควิด-19 ล่าสุด (29 มี.ค.) จำนวน 8 ราย โดยติดจากผู้ป่วย 6 ราย ติดจากแหล่งอื่น 1 ราย อีก 1 รายอยู่ระหว่างการสอบสวน สรุปถึงวันนี้มีบุคลากรทางแพทย์ติดเชื้อแล้ว 19 รายจากผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย
วันนี้ (29มี.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อ 8 ราย โดยติดจากผู้ป่วย 6 ราย ติดจากแหล่งอื่น 1 ราย อีก 1 รายอยู่ระหว่างการสอบสวน ถามว่าเป็นสัดส่วนมากหรือยัง ส่วนตัวไม่อยากให้มีบุคลากรติดแม้แต่คนเดียว เพราะต้องดูแลผู้ป่วยอีกเยอะ ดังนั้น นอกจากการป้องกันตัวระหว่างปฏิบัติงานแล้วขอให้ระมัดระวังเมื่อนอกโรงพยาบา่ลด้วย เนื่องจากจำนวนคนไข้แสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อาการจะยิ่งน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย หากไปดูเอกสารทางวิชาการ ในเด็กจะพบว่ามีอาการไข้ไม่ถึงครึ่ง และอาการอื่นๆ มักจะเบา ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสใดๆ จบเร็ว หายเร็ว มากกว่าคนที่มีอายุมาก
“ทุกวันนี้เรารับคนไข้ในโรงพยาบาลแม้อาการเบา ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ทั้งหมด แต่เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อของผู้ที่มีอาการน้อยๆ ด้วย ทำไมเราถึงวิ่งหาอาคารสถานที่เพื่อรองรับคนที่อาการน้อยไว้ในโรงพยาบาล เพราะเราทราบว่า คนไข้อาการน้อยแพร่เชื้อได้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นหรือตอนที่อาการดีขึ้น สำหรับคนไข้ที่ไม่มีอาการเลยตลอดการติดเชื้อ จนหายเป็นปกติ มีโอกาสแพร่เชื้อได้ แต่น้อยมาก เพราะเชื้อมาจากน้ำลาย ถ้าน้ำลายไม่ออกมา โอกาสแพร่เชื้อก็น้อยมากตามไปด้วย”
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าสำหรับมาตรการในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันจากเบาไปหนัก มาตรการต้องมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นมาตรการที่ทำให้เกิดผลมากที่สุด หากมาตรการที่ทำอยู่ขณะนี้ ไม่สามารยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ทุกคนคงจะเดาได้ว่า มาตรการไหนที่จะตามมา
“หากย้อนกลับไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลในประเทศต่างๆ มาตรการที่ลดการสัมผัสกันในสถานการ์แพร่ระบาดเยอะ ต้องเข้มข้นจริงๆ จึงจะชะลอสถานการ์ได้ ขณะเดียวกัน ประเทศอิตาลี ซึ่งประกาศปิดเมืองเข้มข้น แต่สถานการ์ยังไม่ดีขึ้นเพราะผู้คนยังออกมาพบปะสังสรรค์ ดังนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่มาตรการอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับทุกคน ทุกฝ่าย เป็นมาตรการภาคสมัครใจได้ดีแค่ไหน คนที่มีอาการ สามารถดูแลตัวเองไม่แพร่เชื้อได้ดีแค่ไหน สิ่งนี้สำคัญ ในการชี้ทิศทางโรคว่าจะไปในทิศทางไหน"
สำหรับ ปัญหาเรื่องการรังเกียจตีตรานายแพทย์ธนรักษ์อธิบายว่า เป็นปัญหาที่ส่งเสริมให้โรคระบาดออกไปได้กว้างขึ้น แทนที่จะตั้งแง่รังเกียจ ต้องเข้าใจโรคให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเรารู้ว่ามีผู้ป่วยเข้าไปรับการรักษาในสถานพยาบาล สิ่งที่ทีมแพทย์พยาบาลจะทำ คือ ป้องกันไม่ให้คนไข้แพร่เชื้อให้กับคนไข้อื่นๆ ในโรงพยาบาล โดยการแยกพื้นที่ดูแลผู้ป่วย ให้โอกาสแพร่เชื้อน้อยที่สุด คนไข้คนอื่นๆ ที่เดินเข้าออกในโรงพยาบาล ความเสี่ยงที่เจอผู้ป่วยเหล่านี้แทบไม่มี
นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่าไม่มีโรงพยาบาลไหนต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ดังนั้น จึงต้องจัดหาใส่ชุดอุปกรณ์ต่างๆ ให้บุคลากรสวมใส่อย่างเหมาะสม สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโอกาสแพร่เชื้อออกมาข้างนอกแทบจะไม่มี ขยะติดเชื้อก็จะได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสม บุคลากรที่ออกมาจากโรงพยาบาลจะไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง อยากให้ตั้งสติ และเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากกลัวจนเกินกว่าเหตุ จะเกิดการตั้งแง่รังเกียจไปเรื่อยๆ ผมไม่อยากเห็นภาพว่า คนในพื้นที่รังเกียจแพทย์พยาบาล มันไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น
“พวกเขาทำหน้าที่ดูแลคนไทยด้วยกัน มันสำคัญมาก และเขาก็ป้องกันตัวเองเต็มที่ หากไม่มีการทำงานที่ผิดพลาด เขาไม่ใช่ผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีขั้นตอนใดที่ผิดพลาด เราไม่ให้เขากลับบ้านแน่นอน และเขาต้องกักตัวเอง ดังนั้น คนที่ออกจาก โรงพยาบาลได้ คือไม่เสี่ยง เราเข้าใจความกังวล แต่อย่าให้ความกังวลและความกลัว มาทำให้แพทย์พยาบาลดูแลคนไข้ยากขึ้น ต้องใช้สติและปัญญาในการผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว
สำหรับการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ เราไม่อยากให้มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว จึงอยากให้บุคลากรทางกาแพทย์ดูแลตัวเองให้ดี ลดความเสี่ยงเหมือนประชาชนทั่วไป เพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่ใช่ติดเชื้อแค่ที่ทำงาน แต่หากต้องไปซื้อของข้างนอก ก็มีโอกาสติดเชื้อในสภาพแวดล้อมอื่นๆ ได้เหมือนกัน
“เราพยายามอย่างมากในการเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ตอนนี้มีอยู่ในสต็อกเรียบร้อย ประเด็น คือ การบริหารจัดการ ทุกฝ่ายกำลังพยายามเต็มที่ อยากให้ดูแลในลักษณะที่เข้าอกเข้าใจกัน หากของขาดก็มีช่องทางที่แจ้งมา และส่วนกลางมีความพยายามในการบริหารจัดการถัดมา คือ การเลือกใช้อุปกรณ์การป้องกันตัวที่เหมาะสม เช่น โรงพยาลหนึ่งจะใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ป่วย 1 คน ต้องใช้บุคลากร 20 คน ซึ่งความจริงแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์ต้องใช้อย่างจำกัด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังคงรุนแรงต่อไป อุปกรณ์สำคัญหลายชิ้นจะขาดแคลน เพราะกำลังการผลิตไม่ได้ผลิตของทั่วโลก ไม่ได้เป็นกำลังการผลิตสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สำหรับสถานการ์ปกติ ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ใช้ชุด อุปกรณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม”
“เรารู้ว่าโรคนี้แพร่อย่างไร แพร่แบบไหน ดังนั้น ชุดอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ด้วยละอองฝอยก็ต้องเลือกที่ป้องกันอย่างเหมาะสม แต่บางคนก็ยังคงวิตกในช่วงต้นๆ ก็ไม่ว่ากัน กระทรวงสาธารณสุข จะพยายามสนับสนุนเต็มที่เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้ปลอดภัยที่สุด และอยากจะฝากพี่น้องสื่อมวลชนและประชาชนทุกคน เป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์” นายแพทย์ ธนรักษ์ กล่าว
ทั้งนี้มีผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย ในจำนวนนี้มีบุคลากรทางแพทย์ทั้งหมด 19 ราย ขณะนี้กราฟผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นในแนวเส้นตรง พบผู้ป่วยมากในกลุ่มอายุ 20-59 ปี ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เจอน้อยแต่มีความสำคัญ เพราะเสี่ยงที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในไทยตอนนี้มี 59 จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์แตกต่างกัน ดังนั้นลักษณะการดำเนินมาตรการควบคุมโรคจึงต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 1.กทม.มีผู้ป่วยมาก ต้องมีมาตรการอย่างเข้มข้นเรื่องค้นหาผู้ป่วย และคนสัมผัสให้เร็วและเว้นระยะห่างทางสังคม
2.กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยมาก เช่น สุรินทร์ อุดรธานี กาญจนบุรี บุรีรัมย์ นครราชสีมา จะต้องดำเนินมาตรการเช่นเดียวกับกทม. 3. กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยไม่มาก 1-3 คน ต้องตะครุบผู้ป่วย ตามผู้สัมผัสให้เร็ว และเฝ้าระวังคนที่มาจากต่างพื้นที่ให้เร็วด้วย และ 4. กลุ่มจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วย ต้องจับตาคนที่เดินทางจากต่างพื้นที่ให้เร็ว และให้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง
ทั้งนี้การมีจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลยจำนวนมากจะส่งผลดีต่อการควบคุมโรคของจังหวัดใกล้เคียงด้วย สำหรับเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอนั้น ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม เพราะทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และตนพยากรณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าหากสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายๆ อย่างจะค่อยๆ ขาดแคลน เพราะกำลังการผลิตทั้งในโลกเป็นไปตามสถานการณ์ปกติ ไม่ได้ทำไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วันที่ 29 มีนาคม 2563 รักษาหายกลับบ้าน 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบรายใหม่ 143 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย และ กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 ราย