ศิริราช ฯ ห่วงทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ หากจำนวนผู้ป่วยสูง

ศิริราช ฯ ห่วงทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ หากจำนวนผู้ป่วยสูง

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ฯ ศิริราช ห่วงหากผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น ทรัพยากรทุกชนิดในการดูแลอาจไม่เพียงพอ ขอประชาชนให้ความร่วมมืออยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม หากสกัดดี ตัวเลขจะค่อยๆ ลดลง

วันนี้ (31 มีนาคม) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวในงานแถลงข่าว การคาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมากไปต่างจังหวัด เราพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ จากเดิมผู้ป่วยในกรุงเทพฯ มีจำนวนมากกว่า แต่ปัจจุบัน สัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ผู้ป่วยในต่างจังหวัดคิดเป็น 53% อย่างไรก็ตาม หากดูตามแผนที่การกระจายตัวของผู้ป่วยตามจังหวัดต่างๆ จะเห็นว่า บางแห่งซึ่งเป็นสีชมพู มีการรายงาน 1 ราย ในส่วนของจังหวัดที่มีจำนวนมาก คือ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี และทางภาคใต้

158562986925

“สถานการณ์ในเวลานี้ เราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เรามีมาตรการหลายอย่างที่ออกโดยรัฐบาล โดยจังหวัดต่างๆ กทม. และความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน ทำให้เราดึงจำนวนรายใหม่ลดลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกับระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยที่จะดูแล”  

ศ.นพ.ดร.ประสิทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนไข้หนักที่ต้องใช้ท่อหายใจซึ่งค่อนข้างอยู่ในภาวะวิกฤตมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วย 1 คน แม้จะอาการจะน้อยลง แต่ตราบใดที่ยังตรวจเจอเชื้อ เราจะต้องรักษาไว้ในโรงพยาบาลอยู่ แต่หากคนไข้กลุ่มนี้เข้ามามากเกินศักยภาพจำนวนเตียงที่มี อาจจะต้องขยายไปสู่ขั้นตอนต่อไปในการดูแลคนไข้เหล่านี้   

“เส้นกราฟผู้ป่วยที่เราเห็นตอนนี้ เราอาจจะสบายใจขึ้น เนื่องจากมีมาตรการหลายอย่างออกมาเป็นระลอกใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มที่จะขึ้น และตราบใดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เราก็ยังเป็นห่วงทรัพยากรทุกชนิดในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเตียง บุคลากรทางด้านสุขภาพ อุปกรณ์ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ จนถึง ณ วันนี้เราปริ่มมาก อาจจะค่อนไปทางขาดแคลน หากเรามีคนไข้หนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจะเกินศักยภาพ”  

ศ.นพ.ดร.ประสิทธ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อยากจะชวนทุกคน ที่คนไทยทุกคนสามารถช่วยกันได้ ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง แต่เป็นสิ่งที่เราย้ำมาตลอด อันดับแรก คือ ลดคนไข้ หากเราสามารถลดคนไข้ลง ให้คนที่ติดเชื้อน้อยลง ศักยภาพที่มีอยู่ตอนนี้ ก็จะเพียงพอดูแลคนที่ติดเชื้อ แม้กระทั้งคนที่หนัก ซึ่งวิธีที่ทั่วโลกทำเหมือนกันหมด คือ ขอให้อยู่บ้าน การอยู่บ้านเราจะไม่เอาตัวเราออกไปแพร่เชื้อ หรือ รับเชื้อ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ทุกครั้งที่เราออกจากบ้านหากเรามีเชื้อ เราก็มีโอกาสไปแพร่เชื้อ แต่หากเราไม่มีเชื้อ เราก็มีโอกาสรับเชื้อกลับมาแพร่ในบ้าน ดังนั้น การออกจากบ้านเป็นความเสี่ยง

“หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน เช่น ซื้ออาหาร ขอให้เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน เว้นระยะห่างระหว่างคนที่เราพูดด้วยประมาณ 2 เมตร ขณะเดียวกันก็ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้รับละอองต่างๆ ระหว่างการพูดคุย หากคนที่เราพูดคุยอยู่เราไม่มีทางรู้ว่าคนๆ นั้นมีไวรัสอยู่หรือไม่ นี่คือการป้องกันที่ดีที่สุด ใช้เวลาอยู่นอกบ้านให้น้อยที่สุด หากเราช่วยกันแบบนี้ จำนวนคนไข้จะค่อยๆ น้อยลง”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจำนวนคนไข้จะไม่น้อยลงทันที เพราะจำนวนคนไข้ที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นจำนวนหนึ่งที่มีเชื้ออยู่แล้วแต่ค่อยๆ ทยอยเข้ามาตรวจ เราอาจจะต้องเจอตัวเลขเหล่านี้อีกระยะหนึ่ง แต่หากเราสกัดดีพอ จำนวนใหม่จริงๆ จะน้อยลง และถึงตอนนั้น ศักยภาพในการดูแลภาพรวมของประเทศไทยจะเพียงพอต่อผู้ป่วยทุกคนที่เป็นโควิด-19

นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาจากทางรัฐบาลและเขตจังหวัด ขอให้ทุกคนตั้งใจทำ การไม่มารวมตัวกัน งดสังสรรค์ มีความจำเป็น อย่ารอให้ต้องใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นจิตสำนึก หากทุกคนพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ชี้แจงไป เราจะรู้ว่าเรากำลังช่วยชาติจริงๆ

“และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะฝาก คือ ในเวลานี้อาจจะมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราทำ ขอความกรุณาชวนเขา อธิบาย ดึงเขากลับมาอยู่ในกระบวนการทั้งหมด แปลว่าเรากำลังดึงเขาเข้ามาช่วยประเทศเหมือนกัน อยากเชิญชวนทุกคน อยู่บ้าน เป็นการช่วยชาติ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ กล่าว