19จังหวัดไม่พบผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย 19 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ โดยเพชรบูรณ์ ยโสธร ลพบุรี สุโขทัย ไม่มีผู้ป่วยใหม่ใน7 วันและอีก 15จังหวัดไม่มีผู้ป่วย ใน 14 วัน เน้นย้ำมาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส หรือ โแถลงควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 127 ราย คิดเป็น 8% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยแบ่งเป็นติดจากกลุ่มเดิม 6 รายคือ สนามมวย 4 ราย สถานบันเทิง 11 ราย และสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 47 ราย ผู้ป่วยอื่นๆ 49 ราย คือ คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 17 ราย ,คนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ,อาชีพเสี่ยง เช่นทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ เป็นต้น 9 ราย ,บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 3 ราย ,ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่นตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ 6 ราย และ อื่นๆ 8 รายรอรายละเอียดจากการสอบสวนโรค 16 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมมีผู้เสียชีวิต 10 ราย มีผู้ป่วยกลับบ้านอีก 215 คน ยืนยันกลับบ้านได้แล้ว 342 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,299 ราย ในจำนวนนี้อาการวิกฤต 23 ราย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มี.ค.พบว่ามี 19 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว โดยมี 4 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ ยโสธร ลพบุรี สุโขทัย ไม่พบผู้ป่วยในรอบ 7 วัน ส่วนอีก 15 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยใน14 วัน ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด นครนายก น่าน พังงา พิจิตร ระนอง ลำปาง สกลนคร บึงกาฬ สตูล สมุทรสงคราม อ่างทอง และสิงห์บุรี
“สถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้ไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเท่าตัวใน 2 วัน และสถานการณ์ไม่น่าจะไปแบบสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ยังไม่ไว้วางใจไม่ได้เพราะยังไม่สามารถกดผู้ป่วยให้เป็นแบบสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวันได้ เพราะฉะนั้นถ้าคนไทยช่วยกันปรับพฤติกรรมดำเนินการตามมาตรการรักษาระยะห่าง ไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน อยู่บ้านก็ไม่สังสรรค์ให้ได้ 90 % ก็จะช่วยลดผู้ป่วยลง”นายแพทย์สุขุมกล่าว
นายแพทย์สุขุม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการรักษา เตียงรองรับผู้ป่วย ในกรุงเทพฯ เตียงในโรงพยาบาลและโรงแรมที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ประมาณ 2,000 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาอยู่ราว 700 ราย มีทั้งผู้ป่วยอาการหนักและอาการเบา โดยกลุ่มอาการหนักเตรียมเครื่องช่วยหายใจราว 300 เครื่อง ใช้รักษาผู้ป่วยอยู่ 20 ราย พื้นที่ต่างจังหวัดมีเตียงทั้งหมด 1.2 แสนเตียง ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด-19เป็นการเฉพาะ 10,000 เตียง ขณะนี้ใช้รักษาผู้ป่วย 500 เตียง มีเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ไม่เพียงพอแน่นอนหากเกิดการระบาดหนักๆ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องช่วยกันอย่าให้ป่วยหรือไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆกันจำนวนมาก
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 7 วันและ14วัน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนน้อยและการสอบสวนโรคสามารถตามผู้สัมผัสผู้ป่วยได้ทั้งหมดทุกคน แม้จะพบผู้สัมผัสติดเชื้อภายหลังแต่ก็อยู่ในระบบรักษาและเฝ้าระวัง จึงไม่ไปแพร่เชื้อให้ใครต่อ เป็นการค้นหาผู้ป่วยได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม จังหวัดเหล่านี้จะต้องคงมาตรการที่เข้มงวดต่อไป โดยจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 7 วัน จะต้องค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 7-14 วันก่อนหน้านี้
ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วัน จะต้องเน้นมาตรการ เฝ้าระวังเชิงรุกค้นหากลุ่มก้อนของไข้หวัดในชุมชน และติดตามคนที่เข้ามาใหม่ในพื้นที่อย่างเข้มงวด“สถานการณ์ในจังหวัดเหล่านี้เหมือนกับสถานการณ์ในกรุงเทพฯช่วงต้นๆที่การพบผู้ป่วยจะเกิดขึ้นจากการนำเข้ามาในพื้นที่ ในต่างจังหวัดก็เช่นกันการพบผู้ป่วยเกิดจากการที่มีคนติดเชื้อนำเข้าไปในพื้นที่ หากสามารถพบผู้ป่วยและติดตามผู้ใกล้ชิดได้หมดก็สามารถคุมสถานการณ์ไม่ให้เจอผู้ป่วยรายใหม่ได้ ส่วนผู้สัมผัสผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง เมื่อมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอก็สามารถนำเข้าตรวจหาเชื้อและรักษาพยาบาลได้ทันที อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้สัมผัสผู้ป่วยทุกรายจะติดเชื้อ เพราะจากข้อมูลผู้สัมผัส 100 คน จะติดเชื้อประมาณ 2-4 %”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ฉากทัศน์การคาดการณ์สถานการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขใช้เพื่อวางแผนเตรียมการอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งดำเนินการโดยนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคมี 3 แบบ คือ 1.ไม่ทำอะไรเลย จะมีผู้ป่วยประมาณ 24,000-25,000 ราย 2.สามารถเพิ่มมาตรการรักษาระยะห่างได้ 50% จะมีผู้ป่วยราว 17,000 ราย และ3.สามารถเพิ่มมาตรการรักษาระยะห่างได้ 80% มีผู้ป่วยราว 7,000 ราย จะเห็นได้ว่าห่างจากตัวเลขที่มีการพูดถึงผู้ป่วย 3.5แสนรายและเสียชีวิต 7,000 รายค่อนข้างมาก และสูงกว่าความเป็นจริงทุกตัว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีมาตรการปิดเมืองเพียงแต่ปิดสถานที่เสี่ยงบางแห่ง คนยังใช้ชีวิตประจำวันได้ และทำงานได้ ในสถานที่ราชการและเอกชนก็ยังทำงาน รถติดทุกวัน จึงต้องการให้คนออกจากบ้านน้อยกว่านี้อีกมาก เพื่อทำให้ยอดผู้ป่วยรายใหม่ลดลง
“ การคาดการณ์ตัวเลขมากให้คนตกใจ พยายามขู่ให้คนกลัวกับโรคภัย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เพราะเมื่อไหร่ที่คนกลัว จนเกิดความวิตกกังวล คนจะปฏิบัติตัวโดยไม่มีเหตุผล อย่างเช่น เกิดการตีตราผู้ติดเชื้อ คนไข้ปกปิดข้อมูล ไม่เปิดเผยประวัติการป่วยหรือไปในสถานที่เสี่ยงติดโรค ซึ่งเริ่มมีปรากฎแล้ว การยิ่งเพิ่มความกลัว กังวลยิ่งเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้น วิธีที่ถูกต้องคือให้คนรู้ความจริง ให้เกิดปัญญาและสติ ให้เขาตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง ระยะนี้จึงอยากบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องขอความร่วมมือประชาชนจริงๆ เพื่อชะลอการระบาดให้ช้าที่สุดและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ทุกอย่างอยู่ที่คนไทยทุกคนจริงๆ”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว