ไวรัส มรณะ ฉุดส่งออกไทยติดลบ 5.5 % สูญ 13,480 ล้านดอลลาร์
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินโลกน็อคดาวน์ทำส่งออกไทยติดลบ 7.1% ต่ำสุดรอบ 10 ปี เสียหายยับเยิน 5.5 แสนล้านบาท เฉพาะโควิด -19 ทำส่งออกหาย13,480 ล้านดอลลาร์ ชี้อาเซียน-ฮ่องกง หนัก
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ส่งออกไทยในปี 63 คาดว่าจะมีมูลค่า 228,816 ล้านดอลลาร์ลดลงจากปีก่อน 7.1% หรือลดลง 17,429 ล้านดอลลาร์ (557,728 ล้านบาท)ถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งเป็นได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ถึง 80% ,ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน 10%, สงครามการค้าสหรัฐ-ประเทศคู่ค้า 5% และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน 50% เบื้องต้นคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยไปยังอาเซียนจะเสียหายมากสุดหรือลดลง 5,000 ล้านดอลลาร์ รองลงส่งออกไปฮ่องกงลดลง 4,000 ล้านดอลลาร์ ,ญี่ปุ่นลดลง 3,000 ล้านดอลลาร์ จีนเสียลดลง 2,000 ล้านดอลลาร์ และสหภาพยุโรป ลดลง 1,000 ล้านดอลลา เป็นต้น
นายอัทธิ์ กล่าวว่า หากประเมินเฉพาะผลกระทบจากการระบาดโควิด-19อย่างเดียวโดยไม่รวมปัจจัยอื่น พบว่าจะมีผลต่อการส่งออกในปีนี้ติดลบ 5.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 13,480 ล้านดอลลาร์ (431,360 ล้านบาท) สาเหตุที่อาเซียนมีมูลค่าลดลงมากสุดมาจากหลายประเทศได้ประกาศล็อคดาวน์ทำให้การส่งออกผ่านชายแดนแม้จะดำเนินการแต่ก็ทำได้ค่อนข้างลำบาก มีการตรวจสินค้าและคนขับรถขนส่งว่าติดไวรัสโควิด-19 อย่างละเอียด ส่วนฮ่องกงนั้นพบว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการท่องเที่ยว และการบริโภคซึ่งที่ผ่านมาสินค้าไทยไม่ว่าจะเป็นอาหารและอื่นๆส่วนหนึ่งก็รองรับนักท่องเที่ยวในอ่องกง ขณะที่จีนแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแต่การรับสินค้าจากท่าเรือใช้เวลานานกว่าช่วงปกติ 2 เท่า เป็นต้น
“เป็นการประเมินผลกระทบใน 3 ระดับ โดยหากการระบาดไวรัสโควิด-19 ยุติลงในเดือนมิ.ย. 63 ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวมลดลง 1.8% หรือมูลค่าเสียหาย 140,768 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ 2 เป็นสถานการณ์แย่การระบาดเยื้อยื้อจนถึงเดือนก.ย. 63 ทำให้ส่งออกไทยลดลง 3.7% หรือคิดเป็นมูลค่าเสียหาย 285,600 ล้านบาท และกรณีที่ 3 เป็นสถานการณ์แย่มาก การระบาดยื้อเยื้อเกินกว่าเดือนก.ย. 63 ทำให้ส่งออกภาพรวมลดลง 7.1% คิดเป็นมูลค่าเสียหาย 557,728 ล้านบาท ซึ่งกรณีที่ 3 เป็นโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด”
นายอัทธ์ กล่าวว่า ในส่วนกรณีปกติ โอกาสในการเกิด 15% โดยจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 0.5% อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลล่าร์ การเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าก้าวหน้า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จบภายใน 6 เดือน (เดือน ม.ค.-มิ.ย. 63) ราคาน้ำมัน 40 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล วิกฤติสหรัฐฯ-อิหร่าน มีความขัดแย้งแต่ไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหาร ภัยแล้งจบก่อน พ.ค. 63
ส่วนกรณีแย่ โอกาสในการเกิด 35% อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก -1.0% อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ การเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าก้าวหน้า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จบภายใน 9 เดือน (เดือน ม.ค.- ก.ย. 63) ราคาน้ำมัน 30 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล วิกฤติสหรัฐฯ-อิหร่าน มีความขัดแย้งแต่ไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหาร ภัยแล้งจบก่อน พ.ค. 63
ขณะที่กรณีแย่มากโอกาสในการเกิด 50% อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก -2.5% อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลล่าร์การเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าไม่ก้าวหน้า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีปัญหาตลอดทั้งปี (มากกว่าเดือนเดือน ก.ย. 63) ราคาน้ำมัน 20 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล วิกฤติสหรัฐฯ-อิหร่าน มีความขัดแย้งและใช้ปฏิบัติการทางทหาร ภัยแล้งจบก่อน พ.ค. 63