‘พ่นยาฆ่าเชื้อ’ เสียเวลา เปลืองทรัพยากร
ในช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดไปทั่วโลก คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 40,000 คน ภาพที่เห็นกันบ่อยๆ คือ เจ้าหน้าที่ในชุดป้องกันครบเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อในที่สาธารณะ เช่น ที่แกรนด์บาซาร์ของตุรกี หรือการพ่นยาใส่แรงงานย้ายถิ่นของอินเดีย
และวันก่อนก็มีภาพเผยนายพลไทยใส่ชุดป้องกันแน่นหนาฉีดยาฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 ในคืนวันเกิดของตนเอง
มาตรการนี้ดูเผินๆ ก็น่าประทับใจเมื่อนำมาใช้สกัดการแพร่ระบาดของไวรัสที่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทำแบบนี้แทนที่จะได้ประโยชน์กลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แถมยังสูญเสียทรัพยากรและเวลา
“ตลกมากที่หลายๆ ประเทศทำแบบนี้” เดล ฟิเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากสิงคโปร์ ประธานเครือข่ายเฝ้าระวังและรับมือการแพร่ระบาด ประสานงานโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ เขาไม่เชื่อว่า การทำเช่นนี้จะรับมือการแพร่ระบาดได้และอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนเสียด้วยซ้ำ
“ไวรัสอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ไม่นานหรอก และคนเราก็ไม่ไปสัมผัสพื้นอยู่แล้ว” ผู้เชี่ยวชาญย้ำ
ล่าสุดเมื่อวันอังคาร (31 มี.ค.) สุราบายา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอินโดนีเซีย ส่งโดรนลำหนึ่งขึ้นไปพ่นยาฆ่าเชื้อ
เฟบรีอาทิตยา ประจาตารา โฆษกนายกเทศมนตรีสุราบายา บอกว่า จำเป็นต้องส่งโดรนขึ้นไปพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ เพราะไวรัส “อาจอยู่ที่ใดก็ได้” เขาเปรียบเทียบยาฆ่าเชื้อเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ ที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ถ้าใช้ในระดับความเข้มข้นสูง ว่าเปรียบเหมือนกับ “สบู่” ทำให้ไวรัสอ่อนแรงจนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ไม่ได้
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่แพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากจมูกหรือปาก ด้วยการไอหรือจาม หรือคนเราเอามือไปจับสิ่งที่ปนเปื้อนละอองฝอยแล้วมาจับจมูก ปาก ตา ก็ติดโรคได้เหมือนกัน
กระนั้น ชาวบ้านสุราบายาก็ดีอกดีใจกับโครงการพ่นยาฆ่าเชื้อ
“การใช้โดรนได้ผลมากเลยครับ ฆ่าเชื้อได้ทุกที่เลย บนหลังคาก็ด้วย ถ้าใช้แรงคนฉีด มากสุดก็ไปได้แค่สุดขอบรั้ว” อาลี ซาร์โวโน เห็นดีเห็นงามกับทางการ
ขณะที่ พอล ทัมบยาห์ จากสมาคมจุลชีววิทยาคลินิกและการติดเชื้อแห่งเอเชียแปซิฟิก แนะว่า การล้างมือและเจาะจงทำความสะอาดพื้นผิวที่ผู้คนสัมผัสบ่อยๆ เช่น ปุ่มกดลิฟต์ น่าจะดีกว่าการฉีดยาฆ่าเชื้อ
“การพ่นยาฆ่าเชื้อต้นทุนไม่สูงและมองเห็นเป็นรูปธรรม แต่การให้ความสนใจกับสุขอนามัยส่วนตัวและสิ่งแวดล้อมน่าจะได้ผลมากกว่า”
ที่มาเลเซีย หลังสั่งล็อคดาวน์ทั้งประเทศไปแล้วทางการก็เร่งฉีดยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง หวังลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด แต่ภาพรถฉีดสเปรย์ละอองฟุ้งลงบนถนนก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขปรี๊ดแตก
“ไปฆ่าเชื้อถนนมันจะได้อะไร มีแต่เสียเวลา เปลืองทรัพยากร” คริสโตเฟอร์ ลี อดีตผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อบ่นอุบ
ร้อนถึง นูร์ ฮิชาม อับดุลลาห์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รีบแถลงว่า รัฐบาลจะออกคู่มือให้ทางการท้องถิ่นนำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปฏิบัติการฆ่าเชื้อดำเนินไปอย่างเหมาะสม
กลับไปที่อินโดนีเซีย ตอนนี้กรุงจาการ์ตากำลังติดตั้งตู้ฆ่าเชื้อรูปร่างเหมือนตู้โทรศัพท์ขึ้นทั่วเมือง แค่เดินผ่านก็กำจัดเชื้อโรคบนเสื้อผ้าและผิวหนังได้
“ก็ดีนะ รู้สึกสะอาดหลังจากสัมผัสนู่นนี่มาจากรถเมล์ ฆ่าเชื้อแล้วก็เหมือนมีอะไรป้องกัน” แฟนี อานิสา ชาวจาการ์ตาเผยความรู้สึกหลังออกมาจากตู้ฆ่าเชื้อนอกสถานีขนส่งใจกลางกรุง
โครงการนี้เป็นความคิดริเริ่มของภาคเอกชน ที่ต้องการช่วยเหลือทางการท้องถิ่น แต่ถูกวิกู อะดิสอัสมิโต อาจารย์สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย วิจารณ์ว่า ตู้ฆ่าเชื้ออาจทำให้ระคายเคืองผิว ปาก และดวงตา
เช่นเดียวกับ เลียง โฮ นัม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากโรงพยาบาลเมาต์เอลิซาเบธในสิงคโปร์ กล่าวว่า การพ่นยาฆ่าเชื้ออาจสะดุดตาและทำให้สบายใจ แต่ควบคุมไวรัสไม่ได้ผล
“ถ้าจะให้ได้ผลดีกว่านั้นก็ใช้เครื่องฉีดน้ำ ฉีดใส่ผู้คนให้พวกเขากลับบ้านไปเลยหมดเรื่อง” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้สรุป