“ทีเอชเอ” จี้รัฐช่วยแรงงาน1.6ล้าน รับเงินชดเชย “ว่างงานชั่วคราว”
“ทีเอชเอ” มึน รัฐ-ประกันสังคมไม่เข็นมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างโรงแรมกว่า1.6ล้านคนตรงจุด ให้แรงงานรับเงินชดเชยกรณีว่างงานชั่วคราว หลังหลายโรงแรมทยอยปิดกิจการชั่วคราวเหมือนโดมิโน่ เม.ย.นี้ ด้าน“สทท.”จี้“ออมสิน”ผ่อนปรนเกณฑ์กู้ซอฟท์โลนหมื่นล้านให้เห็นผลจริง
นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า แม้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่31มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอให้ทบทวนมติ ครม.เรื่องมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19เปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนรับเงิน5,000บาทต่อเดือน เป็นเวลา3เดือน จะมีการขยายไปยังผู้ประกันตนตามมาตรา33เพิ่มเติม แต่ก็ได้เพียงบางส่วน ยังไม่ครอบคลุมลูกจ้างธุรกิจโรงแรมอยู่ดี เนื่องจากโรงแรมไม่ใช่ธุรกิจที่รัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว
ส่วนมติที่ให้เพิ่มอัตราและปรับระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา33จาก50%ของค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคม เป็น62%ของค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคม ระยะเวลา90วันเนื่องจากมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงานเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งบางรายได้รับเงินชดเชยในอัตราที่น้อยกว่า5,000บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ในอัตราไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนนั้น สมาคมฯก็ยังเห็นว่าไม่ครอบคลุมลูกจ้างธุรกิจโรงแรม เพราะลูกจ้างที่จะได้รับเงินจากมตินี้คือลูกจ้างธุรกิจที่รัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว
“มาตรการที่ ครม.ออกมติมาเพิ่มเติมยังไม่ครอบคลุมสิ่งที่ธุรกิจโรงแรมต้องการ ทั้งๆ ที่เดือน เม.ย.นี้ หลายๆ โรงแรมได้ปิดกิจการชั่วคราวกันเป็นแถวเหมือนโดมิโน่ กระทบต่อลูกจ้างโรงแรมทั่วประเทศซึ่งปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า1.6ล้านคน โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง75%ของค่าจ้างในกรณีปิดกิจการชั่วคราวเอง สมาคมฯจึงเรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาประกาศให้โรงแรมที่ประสงค์จะปิดกิจการชั่วคราว สามารถลงทะเบียนเพื่อปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ประกันสังคมสามารถเข้ามาจ่ายเงินการว่างงานแก่ลูกจ้างโรงแรมได้ เพราะเข้ากรอบเป็นธุรกิจที่รัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว”
นางสาวศุภวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการสมาคมฯเตรียมประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์อีกรอบเพื่อติดตามว่าการประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้าจะมีประกาศมาตรการที่สามารถช่วยเหลือลูกจ้างธุรกิจโรงแรมเพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึงการขอเข้าหารือกับทางกระทรวงแรงงานอีกครั้ง
หลังจากหลายๆ สมาคมที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวได้แสดงความคิดเห็นกดดันทางโซเชียลมีเดีย ส่งต่อข้อความ เช่นงดจ่ายประกันสังคมทั่วประเทศทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเด็กดีแล้วอด งดจ่ายเบี้ยประกันสังคมดีกว่า พร้อมติดแฮชแท็ก #จ่ายแล้วได้อะไร ไปนั้น เพื่อสะท้อนว่าเหตุใดลูกจ้างในระบบประกันสังคมถึงยังไม่ได้รับการเยียวยาเหมือนคนนอกระบบประกันสังคม
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวเสริมว่า อยากให้ ครม.เร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือลูกจ้างธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่รัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว อย่างธุรกิจโรงแรมที่ทุกวันนี้แม้ไม่มีคำสั่งปิดกิจการชั่วคราวจากรัฐ ก็เหมือนปิดอัตโนมัติอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องที่ธนาคารออมสินเดินหน้าปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน10,000ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวยื่นกู้ได้วงเงินไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 2% 2 ปี มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ ล่าสุด สทท.ได้หารือกับธนาคารออมสินเพิ่มเติมเมื่อวันที่31มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมองว่ามาตรการนี้อาจสวยแต่รูป เพราะยังไม่ได้รับการผ่อนปรนเรื่องหลักเกณฑ์กู้ยืมอย่างที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท่องเที่ยวต้องการ โดยธนาคารออมสินก็ได้รับทราบหลักการที่ทาง สทท.ต้องการให้เร่งผ่อนผันเพื่อให้การปล่อยกู้นั้นเห็นผลทางปฏิบัติจริงและเร็วที่สุด และจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารออมสินต่อไป
“อยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพราะถ้าภายในเดือน เม.ย.นี้ยังไม่มีความชัดเจน มีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายรายอาจต้องหยุดจ่ายทุกอย่าง ทั้งค่าประกันสังคม ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเงินต้นกับดอกเบี้ยที่ต้องส่งธนาคาร หากรัฐบาลไม่ช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดในวันนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการต้องทยอยปิดตัวธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พอถึงวันนั้นก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว” ประธาน สทท.กล่าว