บริหารจัดการเงิน ในช่วงวิกฤติ Covid-19
5 วิธีการบริหารจัดการเงินจากผู้เชี่ยวชาญ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า
ตอนนี้ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน เรื่องที่เป็นที่พูดถึงกันก็คงหนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่ขยายวงกว้างไปในหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคนี้นอกจากจะกระทบกับการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว ยังได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดจำนวนพนักงาน ให้พนักงานลดวันทำงาน บางบริษัทขอปรับลดเงินเดือน หรือขอความร่วมมือให้พนักงานยินยอมลาโดยไม่รับเงินเดือน (Leave without pay) รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระก็เริ่มขาดรายได้
และจากมาตรการการควบคุมการระบาดล่าสุดของรัฐบาล ทำให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องปิดสถานประกอบการชั่วคราว ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้าง และกลุ่มพนักงานที่เป็นลูกจ้างเป็นอย่างมาก โดยที่เราก็ไม่รู้วิกฤตครั้งนี้จะกินระยะเวลานานเท่าใด และเหตุการณ์จะกลับมาปกติได้เมื่อไหร่ พนักงานที่เป็นลูกจ้างหลายๆ คนคงมีความกังวล รู้สึกถึงความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้าง และความไม่มั่นคงในด้านรายได้กันไม่มากก็น้อย
วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณธีรพัฒน์ มีอำพล CFP® จะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้กันครับ “ผมขอแบ่งวิธีการออกเป็น 5 ข้อดังนี้นะครับ
1.สำรวจแหล่งเงินสำรองฉุกเฉิน
โดยทั่วไปแล้วเราควรมีเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในระยะเวลา 3-6 เดือน ให้เราสำรวจดูว่าเรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง และอยู่ที่ใด เช่น เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ประกันชีวิต เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น กองทุนรวม หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ฯลฯ เพื่อประเมินว่าสินทรัพย์ใดที่พอจะแปลงเป็นสภาพคล่องหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว ในเวลาที่ต้องการ โดยใช้มูลค่าสินทรัพย์ในปัจจุบัน ในกรณีที่มีเงินสำรองไม่เพียงพอ ลองหาทางจัดการกระแสเงินสดเพิ่มที่พอทำได้ เช่น รีบขอคืนภาษีเงินได้ หรือขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นและไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตออกไปก่อน
2.จัดการหนี้สินเพื่อไม่ให้เป็นภาระ
เอาหนี้สินทั้งหมดที่เรามีออกมากางดู ไม่ว่าจะหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต มูลค่าคงเหลืออยู่เท่าไหร่ ดอกเบี้ยเป็นเท่าใด และต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนเท่าไหร่ ถ้าเรามีรายได้ลดลง หรือขาดรายได้ เรายังผ่อนชำระไหวหรือไม่ วางแผนการชำระหนี้ให้เรียบร้อย อย่ารอจนเป็นหนี้เสีย เพราะการไม่จ่ายหรือจ่ายช้ามีผลกระทบต่อเครดิตในอนาคต
หากดูแล้วผ่อนชำระไม่ไหวจริงๆ แนะนำให้รีบติดต่อ พูดคุยกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ บอกปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ยิ่งในช่วงนี้หากเรามีปัญหา หลายๆสถาบันการเงินมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงินกู้ พักชำระหนี้ชั่วคราว พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ฯลฯ
3.ควบคุมงบประมาณ ระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
ทำงบประมาณรายรับ รายจ่ายสำหรับ 6-12 เดือนข้างหน้า ประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปอีกหลายเดือน หากถูกเลิกจ้าง หรือมีรายได้ลดลง และนำไปเทียบกับรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน หักลบแล้วมีกระแสเงินสดสุทธิเท่าไร เพียงพอหรือไม่ จะได้ระมัดระวังการใช้เงิน เพื่อให้มีส่วนต่างหรือกระแสเงินสดกลับมาทุกเดือน
4.สวัสดิการและความช่วยเหลือต่างๆ
ติดตามข่าวสาร ตรวจสอบ เงื่อนไขสิทธิช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาสถานประกอบการและเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการชดเชยรายได้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งรัฐบาล มาตรการลดภาระทางด้านภาษี เป็นต้น เพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ
หรือในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง นอกจากจะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจากนายจ้างแล้ว ให้รีบลงทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงานภายใน 30 วันหลังถูกเลิกจ้าง เพื่อรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน ในฐานะสมาชิกกองทุนประกันสังคม ถึงแม้จะไม่มากนักก็ตาม
บางสถานประกอบการลูกจ้างยังมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกก้อน เงินที่ได้มาอย่าเพิ่งรีบใช้ หรือนำไปลดหนี้ แต่ควรจัดสรรเป็นเงินสำรองให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนดก่อน
5.ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพิ่มพูนทักษะ และความสามารถให้กับตัวเอง รวมไปถึงมองหาช่องทางในการสร้างรายได้เสริมในอนาคต บนอินเตอร์เน็ตมีการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ให้คนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ฟรีๆ จำนวนมาก และเมื่อทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ คนที่มีความพร้อมก็จะได้รับโอกาสที่มากกว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นบททดสอบการบริหารจัดการการเงินของเราได้เป็นอย่างดี โดยที่เราต้องไม่ลืมที่จะเรียนรู้ วางแผนการใช้ชีวิตและการใช้เงินให้ได้อย่างเหมาะสม ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านฝ่าฟันผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ”