'เคอร์ฟิว หมายถึง' อะไร ทำไมต้องเอามาใช้กับ 'โควิด'

'เคอร์ฟิว หมายถึง' อะไร ทำไมต้องเอามาใช้กับ  'โควิด'

ย้อนที่มาของคำว่า "เคอร์ฟิว" ที่เกิดมาเพื่อใช้ดับไฟ ก่อนจะถูกนำมาใช้ควบคุมเวลาเข้าออกเคหสถานของผู้คนจนมาถึงปัจจุบัน ก็ถูกประกาศอีกครั้งเพื่อตัดตอนการระบาดของ "โควิด"

กินเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่โลกป่วยด้วย ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามมนุษย์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลก และส่งผลกระทบแผ่ออกไปคลุมกว้าง

ถึงวันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ยุโรป และเอเชียคงจะยังไม่จบลงง่ายๆ อีกทั้งมีแนวโน้มว่าสามารถลุกลามบานปลายรุนแรงกว่าเดิมอีกด้วย ทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องออกกฎหมายที่เข้มข้นหรือใช้ยาแรง อย่าง เคอร์ฟิว เพื่อชะลอและยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วน 

ในประเทศไทยเอง หลังจากที่เฝ้าประเมินสถานการณ์มาระยะหนึ่ง สุดท้ายก็อั้นไม่อยู่เหมือนกัน เนื่องจากยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้อง ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานทั่วประเทศในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. - 04.00 น. โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

158591353074

การประกาศเคอร์ฟิว หรือ มาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานนั้น ไม่ค่อยได้ประกาศใช้กันบ่อยครั้งนัก ซึ่งจะเป็นการประกาศภายหลังจากที่มีการประเมินแล้วว่าเป็นสถานการณ์จำเป็น กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่ว่ากระดุกกระดิกตัวไปไหนไม่ได้เลย จริงๆ เราก็ยังปฏิบัติตัวเหมือนปกตินี่แหละ เพียงแต่ช่วงเวลาที่กำหนดเคอร์ฟิวนั้นไม่ควรออกนอกเคหะสถาน หรือเข้าออกในพื้นที่ที่กำหนด เพราะถ้าหากออกมาจะถือว่ามีความผิด ลักษณะความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทำไมต้องประกาศเคอร์ฟิวด้วย สำหรับคนไทยแล้ว คำว่า เคอร์ฟิว ไม่ได้เป็นคำไกลตัวสักเท่าไหร่นัก เพราะที่ผ่านมาต่างก็คุ้นเคยกับการประกาศเคอร์ฟิวในเหตุการณ์ทางการเมือง และความมั่นคงของประเทศมาแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการประกาศเคอร์ฟิวเพื่อยับยั้งโรคระบาดอย่าง โควิด-19 จึงต่างจากประกาศเคอร์ฟิวที่ผ่านๆ มา

การประกาศเคอร์ฟิว นั้น จะเกิดขึ้นในภาวะที่ต้องการขจัดภัยหรือสะสางปัญหาที่มีอยู่ภายในประเทศ เพื่อนำประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ได้เคยประกาศใช้กัน

เช่นนั้นแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูกันดีอยู่แล้วกับคำว่า เคอร์ฟิว ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษ คือ curfew  และเราก็ใช้เรียกทับศัพท์ไปอย่างนั้นเลย ซึ่งถ้าแปลเป็นแบบไทยๆ ก็อาจจะเป็นกฎเหล็ก อะไรทำนองนั้น 

 

               

จริงๆ ตามรากศัพท์ของ เคอร์ฟิว มาจากคำว่า couvre-feu ในภาษาฝรั่งเศสเก่า มีความหมายตรงตัวว่า ดับไฟ (cover fire)

แรกเริ่มเดิมทีใช้คำนี้เพื่อควบคุมเพลิงไหม้

เรื่องของเรื่องคือ มาจากการที่ พระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต  (William the Conqueror, ค.ศ. 1066 –1087) ออกกฎให้ ดับไฟ และแสงไฟทั้งหมด เมื่อได้ยินสัญญาณระฆังตีแปดนาฬิกา เพื่อ ป้องกันเพลิงไหม้ ในชุมชนอาคารไม้ เหตุเพราะในยุโรปสมัยกลาง บ้านเรือนทำจากท่อนซุง  ตรงบริเวณพื้นบ้านมักจะขุดเป็นหลุมเพื่อเอาไว้ใช้เป็นเตา เนื่องจากกลัวว่าไฟจะไหม้ ว่ากันว่าเวลาดึกสงัดจะมียามเดินตรวจตราและให้สัญญาณว่าถึงเวลาที่จะต้องเข้านอนได้แล้ว ทุกบ้านต้องดับไฟให้เรียบร้อย  ต่อมาเมื่อพระองค์บุกตีอังกฤษสำเร็จก็ได้ออกคำสั่งให้ทุกบ้านดับไฟให้เรียบร้อยและยังห้ามไม่ให้ออกจากเคหะสถานด้วย

อันที่จริง เรื่องมาตรการควบคุมเพลิงไหม้มิได้เพิ่งเริ่มมีในสมัยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต แต่พบหลักฐานว่าใน ค.ศ.872 สมัยพระเจ้าอัลเฟรดมหาราชแห่งอังกฤษ (Alfred the great ค.ศ. 871 - 886)ได้เคยออกมาตรการควบคุมเพลิงไหม้โดยให้ประชาชนดับไฟในเมืองออกซฟอร์ดมาก่อนหน้านี้แล้วเหมือนกัน

ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์โลกจะพบว่าในหลายแว่นแคว้นโบราณมักมีความกังวลและเป็นห่วงเรื่อง เพลิงไหม้ เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างทั่วไปส่วนใหญ่ทำจากวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย และเมื่อเพลิงไหม้แต่ละทีมักสร้างความเสียหายอยู่ไม่น้อย

158591359227

ที่มาของคำว่า เคอร์ฟิว  ทำให้เห็นว่านอกจากสงคราม น้ำแล้ง โรคระบาด อากาศเป็นพิษแล้ว ไฟเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับมนุษย์ไม่น้อย เพราะสมัยก่อนใช้เตาไฟและตะเกียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่มักเกิดอัคคีภัยบ่อยครั้ง จนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับชุมชนสมัยโบราณ จึงจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมเพลิงไหม้

อย่างในสมัยโรมัน พบว่ามี กฎหมาย 12 โต๊ะ กล่าวถึงการควบคุมเพลิงไหม้ กำหนดไว้ว่า ตึกรามบ้านช่องในกรุงโรมต้องปลูกให้ห่างกัน 5 ฟุต   กำหนดความสูงของอาคาร กำหนดความหนาของกำแพงอาคารว่ากำแพงด้านใดที่ติดกับทางสาธารณะ หรือกำแพงของอาคารอื่นๆ ต้องมีความหนามากกว่า 1 ฟุตครึ่ง จักรพรรดิเอากุสทุส (Augustus Caesar) ออกคำสั่งให้อาคารใดๆ ก็ตามที่อยู่ติดถนนต้องมีความสูงน้อยกว่า 70 ฟุต เพื่อให้หน่วยดับเพลิงเข้าไปช่วยคนภายในอาคารได้ง่าย และเพื่อลดความเสียหายและอาคารถล่ม รวมทั้ง มีคำแนะนำให้ประชาชนใช้หินภูเขาไฟจากอัลเบเนียและหินกาบีน (Gabine stone) ซึ่งทนความร้อนได้ดีในการสร้างตึกรามบ้านช่อง

ในกรุงโรมมีหน่วยดับเพลิงเฉพาะ เรียกว่าพวก วิกิเลส (Vigiles ) วิธีการดับไฟของพวกเขา คือ ใช้ผ้าเปียกน้ำผืนใหญ่ๆ เรียกว่า เคนโทเนส (Centones) คลุมลงไปบริเวณที่ไฟติดหรืออาจจะรอบๆ บริเวณที่อยู่ใกล้ๆ กับไฟ หรืออย่างในจีนสมัยโบราณจะมีระบบการป้องกันไฟแบบโบราณ ด้วยการจัดตั้งโอ่งน้ำขนาดใหญ่เอาไว้ตามทางเข้าพระตำหนัก และอาคารต่างๆ ในประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานว่า มาตรการควบคุมเพลิงทำโดยการตั้งหอกลองขึ้นภายในกำแพงพระนคร สูงประมาณ 1 เส้น เรียกกันว่า หอกลองพระมหาระงับดับเพลิง จะใช้ตีเมื่อไฟไหม้ ถ้าไหม้ในกำแพงเมืองให้ตี 3 ครั้ง หากว่าไหม้นอกกำแพงเมืองพนักงานจะตีกลองเป็นจังหวะสม่ำเสมอไปจนกว่าไฟจะดับ ซึ่งเราเพิ่งจะเลิกใช้กลองดังกล่าวในสมัยรัชกาลที่  5 นี่เอง

เช่นเดียวกับที่ในอาณาจักรพม่าสมัยโบราณมีมาตรการควบคุมเพลิงไหม้โดยการกำหนดว่า หลุม หรือ เตา ที่ใช้ทำอาหารลึก 4.5 ฟุต กำหนดให้ทำอาหารได้ภายในเวลาที่ทางการกำหนด วิธีการที่เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจ คือ เขาจะใช้ขนไก่โยนลงไปบนเถ้าถ่าน หากว่าขนไก่ไหม้ เจ้าของบ้านจะมีความผิด และได้รับโทษ เหตุเพราะใช้ไฟนอกเวลา ในอินเดียสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษพบว่า อังกฤษเคยออกมาตรการป้องกันไฟในอินเดียโดยพวกเขาใช้วิธีการติดสินบนให้แพะเป็นรางวัลแก่ชาวบ้านเพื่อไม่ให้จุดไฟเผาป่า

ที่ต้องเข้มงวดกันอย่างนั้นเพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ความสูญเสียจากเหตุไฟไหม้ มันคือความพินาศ ความพลัดพราก ไฟจะทำลายแบบสิ้นซาก อย่างที่มีสำนวนไทยกล่าวไว้ว่า โจรปล้นบ้านสิบครั้ง ก็ยังไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว

ต่อมาคำว่า เคอร์ฟิว ที่แต่เดิมที่ความหมายถึงให้ดับไฟ ได้กลายมาใช้ในนิยามความหมายในปัจจุบันว่าห้ามผู้คนออกนอกบ้านในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งก็มีทั้งห้ามทุกกลุ่มคน หรือการห้ามเฉพาะกลุ่มคน ในกรณีหลังอย่างเช่น เคอร์ฟิวเด็ก ที่พบในอเมริกาและออสเตรเลีย

หวังว่าเชื้อ โควิด-19 จะไม่รุมเร้าโลกเราให้รุนแรงกว่านี้ และระยะเวลา เคอร์ฟิว ก็จะได้ใช้เวลาไม่นานจนเกินไป...